คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 493/2477

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนนั้นเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนได้ตกลงจัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นถูกต้องตามมาตรา 1061 แล้วผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมขอให้นายทะเบียนจดทะเบียนการเลิกห้างได้ เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนหรือตัวแทนบอกกล่าวยืนยันว่าห้างห้างหุ้นส่วนเลิกจากกันและจัดการทรัพย์สินแล้ว ทั้งคำขอขีดชื่อห้ามหุ้นส่วนไม่ขัดต่อมาตรา 1019 แล้วนายทะเบียนต้องรับจดทะเบียนให้ โดยไม่มีหน้าที่ปฏิเสธข้อความเหล่านั้น วิธีพิจารณาความแพ่ง ลักษณพะยาน คู่ความฝ่าย 1 ส่งเอกสารเป็นพะยานอีกฝ่าย 1 มิได้ปฏิเสธความแท้จริงของเอกสารแลข้อความในเอกสารทั้งไม่มีหน้าที่ปฏิเสธข้อความในเอกสารนั้นตามกฎหมายแล้วศาลยอมรับฟังเป็นความจริงตามเอกสารนั้นได้ โดยไม่ต้องมีพะยานบุคคลประกอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเดิมห้างหุ้นส่วน บ.จดทะเบียนผู้เป็นหุ้นส่วน ๓ คนคือโจทก์แล อ.กับ พ. ต่อมา อ.กับ ฟ. ออกจากหุ้นส่วนแลโอนกิจการทั้งหมดให้โจทก์ผู้เดียว อ.กับ ฟ. มอบอำนาจให้ตัวแทนไปขอให้จำเลยขีดชื่อห้างหุ้นส่วนออกจากทะเบียนแต่จำเลยไม่ยอมขีดชื่อห้าง โจทก์จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยขีดชื่อห้างออกจากทะเบียน
จำเลยให้การว่า อ.แล ฟ. ได้ออกจากหุ้นส่วนแลโอนกิจการแลหนี้สินให้โจทก์หรือไม่จำเลยไม่ทราบและไม่มีหน้าที่รับทราบ แต่รับว่าตัวแทน อ.ฟ. มีหนังสือให้ขีดชื่อห้างหุ้นส่วนออกจากทะเบียนจริง แต่จำเลยไม่ยอมขีดเพราะโจทก์ไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒๕๑-๑๒๕๔
โจทก์ส่งเอกสารมาท้ายฟ้องแลส่งสัญญาหุ้นส่วนต่อศาล จำเลยส่งสำเนาจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนต่อศาลและโจทก์แถลงรับว่า เอกสารท้ายฟ้องแลสัญญาหุ้นส่วนที่ส่งต่อศาล โจทก์ไม่เคยนำไปจดทะเบียนทั้งสองฝ่ายไม่สืบพะยานบุคคลต่อไป
ศาลคดีต่างประเทศพิพากษาว่า โจทก์แลพวกมีสิทธิขอถอนชื่อห้างหุ้นส่วนออกจากทะเบียนได้ แต่ก่อนที่จะถอนให้โจทก์แลพวกหุ้นส่วนประกาศในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่โดยอนุโลมตามาตรา ๑๐๗๔ แล้ว จึงให้จำเลยถอนชื่อห้างออกจากทะเบียน
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ม.๑๐๗๔ เป็นเรื่องควบห้างหุ้นส่วนไม่เกี่ยวกับคดีนี้ จึงพิพากษายืนฉะเพาะที่ให้จำเลยรับจดทะเบียนเลิกหุ้นส่วนส่วน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ๑. จำเลยมิได้ปฏิเสธความแท้จริงของเอกสารและข้อความในเอกสารและตามกฎหมายนั้นเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนหรือตัวแทนได้บอกกล่าวยืนยันว่าห้างหุ้นส่วนเลิกจากกันหรือได้จัดการทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนประการใดและคำขอขีดชื่อห้างหุ้นส่วนไม่ขัดต่อ ม.๑๐๑๙ แล้วจำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนก็ต้องรับจดทะเบียนให้ เรื่องนี้จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ปฏิเสธข้อความในเอกสารว่าห้างหุ้นส่วนได้เลิกจากกันและได้จัดการทรัพย์สินระวางกันเองแล้ว ฉะนั้นศาลย่อมรับฟังเป็นจริงตามพะยานเอกสารในสำนวนได้โดยไม่ต้องฟังพะยานบุคคลประกอบ
๒. เห็นว่าการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนสามัญเป็นนิติบุคคล เป็นแต่ทำให้เกิดสิทธิและหน้าที่พิเศษดังบัญญัติไว้ในส่วนที่ ๕ หมวด ๒ ของลักษณ ๒๒ หาได้ลบล้างผลบังคับของบทอื่นทั่วไปที่บัญญัติไว้สำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญในหมวด ๒ ไม่ถ้าแยกส่วนที่ ๕ ออกบังคับโดยลำพังต่างหากจากหมวด ๒ แล้ว จะต้องขาดตกบกพร่อง ถึงแก่บังคับไม่ได้เป็นส่วนมากฉะนั้นเมื่อส่วนที่ ๕ ไม่มีบัญญัติไว้ว่าจะต้องจัดการทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนอย่างไรแล้ว จึงต้องใช้ ม.๑๐๖๑ อันเป็นบททั่วไปบังคับ ส่วนมาตรา ๑๒๕๑-๑๒๕๔ จะใช้บังคับต่อเมื่อมีความจำเป็นต้องชำระบัญชี ฉะนั้นในคดีนี้ เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนตกลงจัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นถูกต้องตามเงื่อนไขในมาตรา ๑๐๖๑ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องชำระบัญชี จำเลยผู้เป็นนายทะเบียนจึงไม่มีอำนาจอย่างใดตามมาตรา ๑๐๑๙ ที่จะปฏิเสธไม่ยอมจดทะเบียนการเลิกห้างหุ้นส่วน และเมื่อจดทะเบียนการเลิกแล้วก็เป็นการเปิดเผยให้คนภายนอกทราบได้ดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๒๐-๑๐๒๑ จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share