คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7795/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สิทธิในการบังคับคดีของจำเลยผู้ตายให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลพิพากษาตามยอมเป็นสิทธิในทรัพย์สินไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว จึงตกทอดไปยังทายาทเมื่อผู้ทรงสิทธิถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และ 1600 ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นทายาทโดยธรรมของจำเลยมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของจำเลย อีกทั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเข้ารับมรดกความแทนจำเลย และดำเนินการบังคับคดีแก่โจทก์ได้ มิใช่เป็นการเข้าแทนที่คู่ความที่มรณะในระหว่างที่คดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอเข้ารับมรดกความแทนจำเลยภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้วก็มีสิทธิที่จะยื่นได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลพิพากษาตามยอม โดยจำเลยตกลงยินยอมให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิใช้ถนนรามคำแหง 63 ในส่วนที่เป็นที่ดินของจำเลยบางส่วนตามที่ดินโฉนดเลขที่ 1946 จากแนวปากซอยถนนรามคำแหงเข้าไปในซอยเป็นระยะ 40 เมตร จำเลยอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองใช้ทางเพื่อนำรถยนต์เข้าออกที่ดินของโจทก์ที่ 1 มีความกว้าง 5 เมตร และถัดจากที่อนุญาตดังกล่าวจำเลยอนุญาตให้โจทก์ใช้ทางเข้าออกกว้าง 11 เมตร โดยโจทก์ทั้งสองยินยอมให้ค่าใช้ที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยเป็นเงิน 1,000,000 บาทโจทก์ที่ 1 จะทำการปรับปรุงถนนรามคำแหงตลอดแนวที่ขอให้เป็นความยาว 80 เมตร และในช่วง 40 เมตรแรก โจทก์ที่ 1 จะสร้างรั้วตลอดแนว ระหว่างการก่อสร้างอาคารของโจทก์ที่ 1 จำเลยอนุโลมให้โจทก์ทั้งสองใช้ทางเข้าออกเดินจนกว่าการก่อสร้างอาคารจะแล้วเสร็จ แต่ในการนี้โจทก์ที่ 1 จะไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการสัญจรและในการค้าของจำเลย โดยศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2538 คดีถึงที่สุด

ผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2544 ว่า ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ผู้ร้องประสงค์จะขอเข้ารับมรดกความในคดีนี้

โจทก์ทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยถึงแก่ความตายหลังจากคดีถึงที่สุดไปแล้วจึงมิได้มีคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42ทายาทหรือบุคคลใด ๆ ไม่อาจจะเข้ามารับมรดกความแทนจำเลยได้ ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย เมื่อศาลได้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยผู้ร้องมีสิทธิเข้ารับมรดกความได้แม้จะเป็นเวลาหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้วเพื่อดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาต่อไป หาใช่การเข้าเป็นคู่ความแทนที่ซึ่งจะต้องอยู่ภายในระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ไม่ จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ารับมรดกความแทนจำเลย

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ศาลชอบที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ารับมรดกความแทนจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และ 1600 เมื่อบุคคลใดตายมรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาทและกองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ซึ่งสิทธิในการบังคับคดีของจำเลยผู้ตายให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนี้เป็นสิทธิในทรัพย์สิน ไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัว จึงตกทอดไปยังทายาท เมื่อผู้ทรงสิทธิถึงแก่ความตายผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายอันเป็นทายาทโดยธรรมของจำเลยย่อมมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของจำเลย อีกทั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเข้ารับมรดกความแทนจำเลย และดำเนินการบังคับคดีแก่โจทก์ทั้งสองได้ กรณีนี้หาใช่เป็นการเข้าแทนที่คู่ความที่มรณะในระหว่างที่คดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ดังที่โจทก์ทั้งสองฎีกาไม่ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอเข้ารับมรดกความแทนจำเลยภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้วก็ตาม ผู้ร้องก็ย่อมมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องดังกล่าวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share