คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บันทึกข้อตกลงสภาพการจ้างซึ่งใช้บังคับเพียง 1 ปีมีความว่า ลูกจ้างที่ปฏิบัติงานเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี 12 วัน ผู้ที่ปฏิบัติงานเกิน 5 ปีมีสิทธิดังกล่าว 18 วัน ในการคำนวณระยะปฏิบัติงานนั้น ข้อตกลงมิได้กำหนดให้เริ่มนับแต่เมื่อใดจึงต้องถือตามความเป็นจริงโดยเริ่มคำนวณระยะเวลาการปฏิบัติงานมาแต่แรก มิใช่เริ่มนับตั้งแต่วันใช้ข้อตกลง เพราะหากคำนวณตั้งแต่วันใช้ข้อตกลงแล้ว จะไม่มีลูกจ้างคนใดได้สิทธิหยุดพักผ่อนเพราะเมื่อครบ 1 ปีก็ต้องเลิกใช้ข้อตกลงนั้นเสียแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยปฏิบัติงานมาเกิน ๑ ปีแล้ว มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ๑๒ วัน ตามข้อตกลงสภาพการจ้างซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๓ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๒๔ จำเลยฝ่าฝืนข้อตกลงสภาพการจ้างโดยไม่อนุญาตให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปี ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๒ แต่การนับระยะเวลาการปฏิบัติงานเพื่อการหยุดพักผ่อนประจำปีตามข้อตกลงสภาพการจ้างต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๒๔ ดังนั้น ใน พ.ศ.๒๕๒๓ โจทก์จึงปฏิบัติงานยังไม่เกิน ๑ ปี ไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี
ศาลแรงงานกลางงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาว่า โจทก์ปฏิบัติงานเกิน ๑ ปีแล้ว ให้จำเลยอนุญาตให้โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ๑๒ วันตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยปฏิบัติงานมาตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๒ ลูกจ้างของจำเลยที่ปฏิบัติงานเกิน ๑ ปี แต่ไม่เกิน ๕ ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ๑๒ วัน ผู้ที่ปฏิบัติงานเกิน ๕ ปีมีสิทธิดังกล่าว ๑๘ วัน ทั้งนี้ตามบันทึกข้อตกลงสภาพการจ้างซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๓ ในการคำนวณระยะเวลาการปฏิบัติงานนั้น ข้อตกลงมิได้กำหนดไว้ให้เริ่มนับแต่เมื่อใด จึงต้องถือตามความเป็นจริงโดยเริ่มคำนวณระยะเวลาการปฏิบัติงานมาแต่แรก มิใช่เริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๓ อันเป็นวันเริ่มใช้ข้อตกลง อนึ่ง หากคำนวณตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๓ หรือภายหลังนั้นจะไม่มีลูกจ้างคนใดได้สิทธิหยุดพักผ่อนดังกล่าว เพราะเมื่อครบ ๑ ปี หรือยังไม่ครบ ในกรณีเริ่มคำนวณหลังวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๓ ก็ต้องเลิกใช้ข้อตกลงนั้นเสียแล้วเพราะใช้บังคับเพียง ๑ ปี เมื่อปรากฏว่าโจทก์ปฏิบัติงานเกิน ๑ ปี แล้วเมื่อเริ่มใช้ข้อตกลงสภาพการจ้างในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๓ โจทก์จึงมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ๑๒ วัน
พิพากษายืน

Share