แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้โจทก์จะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่การที่โจทก์จัดให้มีบริการเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ โดยผู้เช่าจะต้องเสียค่าเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พร้อมทั้งต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่ภายในกำหนด ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ สิทธิเรียกร้องค่าเช่าใช้วิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (6) ส่วนค่าตอบแทนรวมทั้งค่าตอบแทนเพิ่มที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยผู้ใช้ความถี่วิทยุก็มีลักษณะทำนองเดียวกับค่าเช่า เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์และเรียกค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุตามสัญญาเช่าใช้ทั้ง 4 ฉบับ เกินกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์สามารถทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ สิทธิเรียกร้องค่าเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์และค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุดังกล่าวจึงขาดอายุความ และเมื่อสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนการใช้ความถี่วิทยุอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ ค่าตอบแทนเพิ่มซึ่งเป็นเบี้ยปรับและเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมขาดอายุความด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/26 สำหรับค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์อันเนื่องมาจากจำเลยไม่ส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์คืนแก่โจทก์เมื่อสัญญาเลิกกันนั้น เห็นว่า ค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นการเรียกร้องโดยอาศัยเหตุมาจากการที่จำเลยไม่ยอมส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ที่เช่าคืนโจทก์เมื่อสัญญาเช่าใช้เลิกกัน อันถือเป็นค่าเสียหายที่สืบเนื่องมาจากการเลิกสัญญา ซึ่งเป็นสิทธิที่โจทก์จะกระทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 หาใช่เป็นการเรียกค่าเสียหายที่มีลักษณะเช่นเดียวกับการเรียกค่าเช่าตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาไม่ ซึ่งค่าเสียหายในส่วนนี้กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อนับตั้งแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจนถึงวันฟ้องยังไม่เกินกำหนด 10 ปี คดีโจทก์ในส่วนนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้เป็นผู้ได้รับการจัดสรรความถี่วิทยุ 143.150 MHz และจำเลยได้เช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์จากโจทก์ ยอมชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน โจทก์ตรวจสอบพบว่า จำเลยค้างชำระค่าเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์เป็นเวลานาน และค้างชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยยื่นแบบแสดงรายการค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุพร้อมชำระค่าตอบแทน จำเลยได้รับหนังสือแล้วแต่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเครื่องวิทยุคมนาคมที่ไม่สามารถส่งคืนได้จำนวน 6 เครื่อง เป็นเงินจำนวน 19,379 บาท ชำระราคาค่าอุปกรณ์วิทยุคมนาคมที่ไม่สามารถส่งคืนได้พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินจำนวน 7,233.34 บาท และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 6,263 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระค่าเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินจำนวน 53,290.75 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 37,500 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระค่าขาดประโยชน์สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ที่ไม่สามารถส่งคืนได้จำนวน 6 เครื่อง เป็นเงินจำนวน 52,200 บาท และอัตราเดือนละ 1,800 บาท ต่อเครื่อง นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุจำนวน 4,800 บาท และค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องจำนวน 79,824 บาท และอัตราวันละ 48 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยเป็นผู้ให้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ตามฟ้องแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย ทั้งสัญญาให้เลขที่ 1296/2533 และสัญญาเช่าใช้เลขที่ 1457/2533 ก็ตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระราคาค่าเครื่องวิทยุคมนาคมและค่าอุปกรณ์จำนวน 4 เครื่อง ตามสัญญาเช่าใช้ดังกล่าว ค่าอุปกรณ์ที่โจทก์เรียกร้องมาก็สูงเกินไป สิทธิเรียกร้องค่าเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ตามสัญญาเช่าทั้ง 4 ฉบับ ขาดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (6) สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเนื่องมาจากเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์สูญหายเป็นเรื่องละเมิด โจทก์ต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบว่าจำเลยทำเครื่องวิทยุคมนาคมสูญหาย แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี แล้ว จึงขาดอายุความ และค่าเสียหายส่วนนี้ซ้ำซ้อนกับที่โจทก์เรียกให้จำเลยใช้ราคาค่าเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ที่สูญหาย ทั้งจำเลยไม่ได้มีข้อตกลงในเรื่องนี้กับโจทก์ และโจทก์ถือเป็นผู้รับส่งข่าวสาร ให้จำเลยเช่าความถี่วิทยุเรียกเอาค่าตอบแทนอันเกิดจากการเช่า จึงถือว่าเป็นค่าเช่าหรือค่าธรรมเนียม โจทก์ต้องฟ้องเรียกค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุภายใน 2 ปี นับแต่วันครบกำหนดชำระ คือปี 2539 ถึงปี 2541 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (3) แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 2 ปีแล้ว คดีโจทก์ส่วนนี้จึงขาดอายุความ เมื่อสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/26 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 25,642 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าอุปกรณ์ที่ไม่สามารถส่งคืนได้จำนวน 6,263 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 26,612.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 6,263 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สิทธิเรียกร้องค่าเช่าใช้วิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยไม่สามารถส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์คืนโจทก์ ค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ และค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐ การดำเนินงานของโจทก์จึงมิใช่เป็นเรื่องของผู้ประกอบกิจการให้เช่าสังหาริมทรัพย์เรียกเอาค่าเช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (6) ทั้งมิใช่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันพึงได้รับในการนั้น แต่ลักษณะเป็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการใช้บริการสาธารณะที่หน่วยงานของรัฐเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการสาธารณะ เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น คดีนี้ต้องห้ามมิให้
ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อปี 2532 จำเลยยื่นเรื่องต่อโจทก์ขอมีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมจำนวน 24 เครื่อง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 โจทก์พิจารณาแล้วอนุญาตให้จำเลยมีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมที่ความถี่ 143.150 MHz จำนวน 20 เครื่อง โดยวิธีเช่าใช้จากโจทก์ ตามหนังสือของโจทก์เอกสารหมาย จ.7 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2533 วันที่ 8 มกราคม 2534 วันที่ 16 พฤศจิกายน 2535 และวันที่ 19 เมษายน 2536 จำเลยทำสัญญาให้และมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์จำนวน 4 เครื่อง 4 เครื่อง 2 เครื่อง และ 1 เครื่อง ตามลำดับให้แก่โจทก์ และในวันเดียวกันนั้นจำเลยได้ทำสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวจากโจทก์ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 1,000 บาท 1,000 บาท 600 บาท และ 300 บาท ตามลำดับ โดยชำระภายในวันที่ 10 ของทุกเดือน สัญญาเช่าใช้แต่ละฉบับมีกำหนด 1 ปี และมีข้อตกลงว่า เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้ว หากจำเลยยังคงใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ต่อไปอีก ให้ถือว่าจำเลยตกลงเช่าต่อไปจนกว่าจำเลยจะบอกเลิกสัญญา ตามสัญญาให้และสัญญาเช่าใช้เอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.17 ต่อมาวันที่ 29 มกราคม 2539 มีประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุให้แก่โจทก์ โดยครั้งแรกต้องยื่นแบบแสดงรายการค่าตอบแทนพร้อมชำระค่าตอบแทนภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากโจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระเกินกำหนดเวลาต้องเสียค่าตอบแทนเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อวัน ของค่าตอบแทนที่ต้องชำระ นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดชำระจนถึงวันชำระเสร็จ ตามประกาศเอกสารหมาย จ.27 โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 11มิถุนายน 2541 แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว ตามหนังสือและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.28 ต่อมาปี 2542 จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าทั้ง 4 ฉบับ และได้ส่งเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์คืนแก่โจทก์บางส่วน โดยเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2542 ส่งคืนจำนวน 4 เครื่อง และเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2542 ส่งคืนจำนวน 1 เครื่อง ส่วนอีก 6 เครื่อง จำเลยแจ้งว่าสูญหาย ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.22 ถึง จ.25 โจทก์มีหนังสือแจ้งยินยอมให้จำเลยเลิกสัญญาเช่าใช้พร้อมแจ้งให้จำเลยส่งคืนเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ให้ครบถ้วนตามสัญญา หากไม่สามารถคืนได้ให้ชดใช้ราคาแทน ให้ชำระค่าเช่าใช้ที่ค้างชำระ ค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าใช้สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมที่สูญหาย ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุพร้อมค่าตอบแทนเพิ่ม เห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่การที่โจทก์จัดให้มีบริการเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ โดยผู้เช่าจะต้องเสียค่าเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์พร้อมทั้งต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่ รวมทั้งต้องชำระค่าตอบแทนเพิ่มในกรณีไม่ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่ภายในกำหนด ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ สิทธิเรียกร้องค่าเช่าใช้วิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (6) ส่วนค่าตอบแทนรวมทั้งค่าตอบแทนเพิ่มที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยผู้ใช้ความถี่วิทยุก็มีลักษณะทำนองเดียวกับค่าเช่า เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์และเรียกค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุตามสัญญาเช่าใช้ทั้ง 4 ฉบับ เกินกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์สามารถทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ สิทธิเรียกร้องค่าเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์และค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุดังกล่าวจึงขาดอายุความ และเมื่อสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนการใช้ความถี่วิทยุอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ ค่าตอบแทนเพิ่มดังกล่าวซึ่งเป็นเบี้ยปรับและเป็นหนี้อุปกรณ์ก็ย่อมขาดอายุความด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/26 สำหรับที่โจทก์เรียกค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์อันเนื่องมาจากจำเลยไม่ส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์คืนแก่โจทก์เมื่อสัญญาเลิกกันนั้น เห็นว่า ค่าเสียหายในส่วนดังกล่าวนี้เป็นการเรียกร้องโดยอาศัยเหตุมาจากการที่จำเลยไม่ยอมส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ที่เช่าคืนโจทก์เมื่อสัญญาเช่าใช้เลิกกัน อันถือเป็นค่าเสียหายที่สืบเนื่องมาจากการเลิกสัญญา ซึ่งเป็นสิทธิที่โจทก์จะกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 หาใช่เป็นการเรียกค่าเสียหายที่มีลักษณะเช่นเดียวกับการเรียกค่าเช่าตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาไม่ ซึ่งค่าเสียหายในส่วนนี้กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อนับตั้งแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจนถึงวันฟ้องยังไม่เกินกำหนด 10 ปี คดีโจทก์ในส่วนนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า สาเหตุที่จำเลยไม่สามารถส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์จำนวน 6 เครื่อง คืนโจทก์ได้เนื่องจากเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวได้สูญหายไป สัญญาเช่าใช้สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ที่สูญหายย่อมเป็นอันระงับไปนับแต่วันที่สูญหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายในลักษณะเป็นค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์ ฎีกาโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.