คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7227/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำเบิกความและคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยได้ความว่า ผู้ตายชอบเล่นอาวุธปืน บางครั้งเอากระสุนปืนออกจากลูกโม่แล้วมาจ่อยิงที่ศีรษะตนเองหรือผู้อื่นเพื่อล้อเล่น ในวันเกิดเหตุผู้ตายก็เอาอาวุธปืนมาเล่นอีก แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าขณะที่ผู้ตายเอาอาวุธปืนมาจ่อที่ศีรษะตนเองแล้วจำเลยเข้าแย่งเป็นเหตุให้ปืนลั่นนั้น ผู้ตายจะยิงตนเองหรือผู้ตายเมาสุราจนไม่ได้สติแต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้หรือไม่ว่าอาวุธปืนดังกล่าวบรรจุกระสุนปืนหรือไม่ ดังนั้น การที่จำเลยเข้าแย่งอาวุธปืนในสถานการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ อันเป็นการกระทำโดยประมาทตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสี่
การที่จะอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นได้นั้น ต้องเป็นเรื่องการกระทำผิดโดยเจตนา แต่คดีนี้จำเลยกระทำความผิดโดยประมาทจึงมิใช่เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และคืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 จำคุก 4 ปี คำให้การของจำเลยในฐานะพยานและคำให้การในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก คืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 จำเลยอุทธรณ์ โจทก์ไม่อุทธรณ์ ความผิดตามมาตรา 288 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำด้วยความจำเป็นที่ต้องกระทำเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงที่จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายก่อให้เกิดขึ้น ทั้งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้ปืนลั่นขึ้นกระสุนปืนถูกผู้ตายถึงแก่ความตายก็มิใช่เกิดจากการกระทำโดยประมาทของจำเลย ในชั้นนี้คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยกับผู้ตายอยู่กินเป็นสามีภริยากันก่อนเกิดเหตุประมาณ 4 ถึง 5 เดือน พักอาศัยอยู่ด้วยกันที่ห้องเช่าเลขที่ 34/5 หมู่ที่ 8 ตำบลโพสะ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นที่เกิดเหตุในคดีนี้ ในวันเกิดเหตุผู้ตายดื่มสุราในห้องเช่าดังกล่าวตั้งแต่เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ต่อมาเวลาประมาณ 15 นาฬิกา นางสาวสุวณีเพื่อนจำเลยและนายไตรภูมิสามีนางสาวสุวณีได้ไปร่วมดื่มสุราและเบียร์กับผู้ตายและจำเลยต่อมามีนางสาวรัตนาซึ่งพักอาศัยอยู่ห้องเช่าข้างเคียงมาร่วมดื่มด้วยจนกระทั่งเวลาประมาณ 21 นาฬิกา นางสาวรัตนากลับไปนอนที่ห้องเช่าของตน ส่วนนายไตรภูมิกับนางสาวสุวณีออกจากห้องเช่าเพื่อไปรับประทานอาหาร ในห้องเช่าที่เกิดเหตุคงเหลือแต่จำเลยกับผู้ตายเพียงสองคน ต่อมาผู้ตายถูกยิงด้วยอาวุธปืนพกรีวอลเวอร์ขนาด .38 ซึ่งเป็นของผู้ตายและเป็นของกลางในคดีนี้ จำเลย 1 นัด กระสุนปืนถูกที่ศีรษะด้านขวาทะลุออกที่ศรีษะด้านซ้าย ทิศทางจากขวาไปซ้าย หน้าไปหลัง ล่างขึ้นบนตามรายงานการชันสูตรพลิกศพ และรายงานการตรวจศพเอกสารหมาย ป.จ.1 และป.ล.1 (ศาลจังหวัดแม่สอด) ก่อนที่นางสาวรัตนา นายไตรภูมิและนางสาวสุวณีออกไปจากห้องเช่าของจำเลยและผู้ตาย จำเลยกับผู้ตายไม่ได้ทะเลาะกันแต่อย่างใด ปัญหาว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายหรือไม่ โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุมาเบิกความ แต่โจทก์มีคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.11 มาส่งศาล ซึ่งจำเลยได้ให้การไว้ต่อร้อยตำรวจเอกธวัชชัยพนักงานสอบสวนพยานโจทก์ ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2544 หลักเกิดเหตุเพียง 1 วัน โดยจำเลยให้การไว้ว่าหลักจากนางสาวรัตนานายไตรภูมิและนางสาวสุวณีออกไปจากห้องเช่าแล้ว จำเลยกับผู้ตายก็อยู่ด้วยกันเพียงสองคน ผู้ตายนั่งหันหลังพิงผนังห้องพักทางด้านหน้า ส่วนจำเลยนอนอยู่หันศีรษะไปทางทิศตะวันออกหันปลายเท้าไปทางที่ผู้ตายนั่งอยู่ จำเลยถามผู้ตายว่าอาวุธปืนของผู้ตายอยู่ที่ไหน ผู้ตายว่าอย่ายุ่งเรื่องของผู้ตาย แล้วผู้ตายเอื้อมมือข้ามตัวจำเลยไปหยิบอาวุธปืนที่หัวนอนของจำเลยและนำอาวุธปืนเข้าหาตัวโดยปากกระบอกปืนหันเข้าหาศรีษะผู้ตาย จำเลยตกใจกลัวว่าผู้ตายจะยิงตัวเองจึงเอื้อมมือไปจับมือผู้ตายโดยใช้มือทั้งสองข้างของจำเลยกำที่มือผู้ตายซึ่งถืออาวุธปืนอยู่ แล้วเสียงปืนก็ดังขึ้น 1 นัด จำเลยเอาอาวุธปืนออกจากมือผู้ตายโยนไปที่กองผ้าห่มข้างผนังห้องทางทิศตะวันออก แล้วจำเลยไปอุ้มผู้ตายพบว่าที่บริเวณด้านหลังของผู้ตายมีเลือดไหลออกมา จำเลยจึงวิ่งออกไปจากห้องไปขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นแล้วพาผู้ตายไปโรงพยาบาล นอกจากนี้โจทก์ยังมีสิบตำรวจเอกสำเริงมาเบิกความว่า พยานได้บันทึกปากคำจำเลยไว้ตั้งแต่คืนเกิดเหตุตามเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งมีข้อความสอดคล้องกับบันทึกคำให้การชั้นสองสวนของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.11 เห็นว่า เอกสารหมาย จ.5 และ จ.11 ได้ทำขึ้นในเวลากระชั้นชิดกับเวลาเกิดเหตุ จำเลยยังไม่มีเวลาที่จะคิดปรุงแต่งให้เหตุการณ์ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง คำให้การของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.11 ที่ว่าจำเลยเข้าแย่งอาวุธปืนจากผู้ตายเป็นเหตุให้ปืนลั่นถูกผู้ตายถึงแก่ความตายจึงรับฟังได้ ส่วนที่จำเลยเบิกความในชั้นพิจารณาว่าในคืนเกิดเหตุหลังจากนายไตรภูมิและนางสาวสุวณีออกจากห้องเช่าไปแล้ว ผู้ตายได้เอาอาวุธปืนมาเล่นจำเลยห้ามไม่ให้ผู้ตายเล่นอาวุธปืน ผู้ตายว่าอย่างมายุ่ง หลังจากนั้นจำเลยนอนครึ่งหลับครึ่งตื่นประมาณ 10 ถึง 20 นาที จำเลยได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด จึงลุกขึ้นมาดูเห็นเลือดไหลจากบริเวณด้านหลังศรีษะของผู้ตาย ทำนองว่าผู้ตายยิงตนเองนั้น เห็นว่าไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ เนื่องจากคดีนี้พนักงานสอบสวนได้เก็บเขม่าปืนที่มือจำเลยเพื่อดำเนินการตรวจหาธาตุสำคัญบางธาตุที่มาจากการยิงปืนซึ่งพันตำรวจเอกธาดานักวิทยาศาสตร์ (สบ 4) กองพิสูจน์หลักฐาน พยานโจทก์ได้ตรวจพิสูจน์แล้วตรวจพบธาตุแอนติโมนี (Antimony) และแบเรียม (Barium) ที่มือจำเลยในปริมาณที่เชื่อได้ว่าจำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงมาแล้วใหม่ๆ ตามเอกสารหมาย ป.จ.1 (ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช) แผ่นที่ 3 ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้ตายเอาอาวุธปืนจ่อที่ศรีษะตนเอง จำเลยเข้าแย่งปืนเพราะกลัวผู้ตายจะใช้ปืนยิงผู้ตายเองเป็นเหตุให้ปืนลั่นกระสุนปืนถูกศรีษะผู้ตายทางด้านขวาทะลุออกด้านซ้ายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายปัญหาว่าความตายของผู้ตายเป็นผลจากการเข้าแย่งอาวุธปืนของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยและคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยว่า ผู้ตายชอบเล่นอาวุธปืน บางครั้งเอากระสุนปืนออกจากลูกโม่แล้วมาจ่อยิงที่ศีรษะตนเองหรือผู้อื่นเพื่อล้อเล่น ในวันเกิดเหตุก่อนเกิดเหตุผู้ตายก็เอาอาวุธปืนมาเล่นอีก แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าขณะที่ผู้ตายเอาอาวุธปืนมาจ่อที่ศีรษะตนเองแล้วจำเลยเข้าแย่งเป็นเหตุให้ปืนลั่นนั้น ผู้ตายจะยิงตนเองหรือผู้ตายเมาสุราจนไม่ได้สติแต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้หรือไม่ว่าอาวุธปืนดังกล่าวบรรจุกระสุนปืนหรือไม่ ดังนั้น การที่จำเลยเข้าแย่งอาวุธปืนในสถานการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ อันเป็นการกระทำโดยประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสี่ ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชอบแล้ว ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำด้วยความจำเป็นเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 (2) นั้น เห็นว่า การที่จะอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นได้นั้น ต้องเป็นเรื่องการกระทำผิดโดยเจตนา แต่คดีนี้จำเลยกระทำความผิดโดยประมาทจึงมิใช่เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น อย่างไรก็ตามจำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ด้วยเจตนาดีต่อผู้ตาย ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยตามที่จำเลยแก้ฎีกา”
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตร 291 จำคุก 4 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน ให้รอการลงโทษไว้ภายในกำหนด 3 ปี ข้อหาอื่นให้ยก คืนของกลางแก่เจ้าของ

Share