แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีส่วนแพ่ง ปัญหาที่ว่าคนขับรถของฝ่ายใดประมาทนั้นคู่ความตกลงกันให้ถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา หากศาลสูงพิจารณาคดีถึงที่สุดว่า จำเลยที่ 1 คนขับรถของจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิด จำเลยที่ 2 ยอมใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีถึงที่สุดว่าทั้งสองฝ่ายมีความผิดและลงโทษจำคุก แม้คดีส่วนอาญาศาลพิพากษาว่าเคยขับรถทั้งสองฝ่ายมีความผิด ก็ยังแสดงว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดด้วยอยู่นั่นเอง ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามที่คู่ความตกลงกันแต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 424 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 บัญญัติไว้ว่าในการพิพากษาคดีข้อความรับผิดเพื่อละเมิดและกำหนดค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่ง ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วย ความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่จำต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้อง คำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดทางอาญาหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และคนขับรถของโจทก์ที่ 2 ต่างมีส่วนกระทำความผิดกรณีต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 และ มาตรา 223 ซึ่งศาลมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนสูงต่ำตามส่วน แห่งความยิ่งหย่อนของผู้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายโดยอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ แม้ในคดีส่วนอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1และคนขับรถของโจทก์ที่ 2 เท่ากัน ก็เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษในความผิดทางอาญา จะถือเป็นหลักในการวินิจฉัยความรับผิดทางแพ่งว่าทั้งสองประมาทเท่ากันหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน ก.ท.ห. – 6080 โจทก์ที่ 3 เป็นนิติบุคคลจำกัดซึ่งรับประกันภัยรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน ความเสียหายโดยสิ้นเชิงรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน ส.ร.01075 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน2518 เวลาประมาณ 21.00 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขณะปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ส.ร.01075 จากทางแยกลาดพร้าวไปตามถนนพหลโยธิน บ่ายโฉมหน้าไปทางสามแยกเกษตรด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง กล่าวคือ เมื่อจำเลยที่ 1 ขับไปถึงบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวรนาถ บางเขนจำเลยที่ 1 ได้ขับรถล้ำเส้นกึ่งกลางถนนเพื่อจะเลี้ยวขวาเข้าปั๊มน้ำมันด้านขวามือโดยไม่ระมัดระวังจอดหรือชะลอรถรอให้รถยนต์ของโจทก์ซึ่งแล่นสวนทางมาจากสามแยกเกษตรได้ผ่านพ้นไปก่อน จำเลยที่ 1ได้เลี้ยวรถโดยกะทันหันและน่าหวาดเสียวเป็นเหตุให้ชนถูกรถโจทก์ รถโจทก์หลบไปกระทบกับรถยนต์บรรทุกอีกคันหนึ่งซึ่งจอดอยู่ข้างทาง โจทก์ที่ 1 ซึ่งโดยสารอยู่ในรถของโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บหลายแห่ง รถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ตัวถังด้านขวาบุบเป็นรอยครูด คานหน้า ล้อหน้า เครื่องยนต์และส่วนประกอบช่วงล่างบุบแตกหัก โจทก์ที่ 1 เสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 7,426 บาท ขาดผลประโยชน์ระหว่างรักษาตัวและพักฟื้น เป็นเงิน 18,000 บาท เสื่อมสุขภาพอนามัยเพราะทุพพลภาพไม่อาจทำงานได้ตามปกติเป็นเงิน 10,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 48,500 บาท (ที่ถูกน่าจะเป็น 35,426 บาท) โจทก์ที่ 2 เสียค่าซ่อมรถเป็นเงิน 65,000 บาท แต่โจทก์ที่ 3 ชำระให้เป็นเงิน 35,000 บาท โจทก์ที่ 2 คงเสียหายเฉพาะค่าซ่อมรถ 30,000 บาท และระหว่างซ่อมรถ 4 เดือน โจทก์ที่ 2 ขาดผลประโยชน์เป็นเงิน 118,400 บาทและรถเสื่อมสภาพคิดเป็นเงิน 10,000 บาท รวมค่าเสียหายโจทก์ที่ 2 ทั้งสิ้น 158,400 บาท โจทก์ที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 2 ตามสัญญาประกันภัย ซึ่งได้ชดใช้ให้โจทก์ที่ 2 ไปแล้ว 35,000บาท จึงได้รับช่วงสิทธิ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสามพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ในระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลย โจทก์ทั้งสามขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1เสียจากสารบบความ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บจากกรณีรถชนกันในคดีนี้ เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทของลูกจ้างของโจทก์ที่ 2 ซึ่งขับรถด้วยความเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และแล่นกินทางเข้ามาในทางเดินรถของจำเลย จำเลยที่ 1 มิได้ขับรถด้วยความประมาทดังโจทก์ฟ้องเพราะขับรถไปจอดรอเลี้ยวขวาอยู่ในทางแล่นรถของจำเลยที่ 1เมื่อจวนตัวลูกจ้างของโจทก์ที่ 2 ได้หักรถหลบไปเข้าทางโดยมิได้ชนรถของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด แต่กลับไปชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.ท.ก.-6144 ซึ่งจอดอยู่ริมถนน จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสาม โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ประกอบการงานและไม่ได้รับบาดเจ็บมากมายดังฟ้อง และสามารถประกอบกรณียกิจได้ตามปกติทุกวัน รถยนต์ของโจทก์ที่ 2 เสียหายไม่มาก เสียค่าซ่อมไม่เกิน 10,000 บาท และใช้เวลาซ่อมไม่เกิน 7 วัน โจทก์ที่ 2ไม่ขาดรายได้ในระหว่างซ่อมรถ รายได้สุทธิของโจทก์ที่ 2 ไม่เกินวันละ 200 บาท และรถไม่เสื่อมสภาพ โจทก์ที่ 3 ไม่ควรได้รับช่วงสิทธิเกินกว่า10,000 บาท
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งกระทำในทางการที่จ้างและเกิดจากความประมาทของนายประสิทธิ์คนขับรถลูกจ้างของโจทก์ที่ 2 ด้วย แต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีส่วนผิดมากกว่านายประสิทธิ์โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 25,486 บาท โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายเป็นค่าซ่อมรถ 15,000 บาท ค่าเสื่อมราคา 5,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ 72,000 บาท รวมเป็นเงิน 92,000 บาท และโจทก์ที่ 3 ได้ออกค่าซ่อมรถแทนโจทก์ที่ 2 ตามสัญญาประกันภัยเป็นเงิน 35,000 บาท เนื่องจากลูกจ้างของโจทก์ที่ 2 มีส่วนผิดด้วยเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระค่าเสียหาย 3 ใน 5 ส่วนของจำนวนค่าเสียหายดังกล่าวพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน 15,291.60 บาท 55,200 บาท และ 21,000 บาทตามลำดับพร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะค่าฤชาธรรมเนียมโดยให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสามเท่าที่โจทก์ทั้งสามชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีเฉพาะโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ให้รับเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายส่วนฎีกาสำหรับโจทก์ที่ 2 ให้รับทุกข้อ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ในข้อกฎหมายว่า ในปัญหาที่ว่าคนขับรถของฝ่ายใดประมาทนั้น คู่ความตกลงกันให้ถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาที่พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และนายประสิทธิ์ หัตถกร คนขับรถของโจทก์ที่ 2 เป็นคดีอาญา ปรากฏว่าคำพิพากษาคดีส่วนอาญาซึ่งถึงที่สุดแล้วพิพากษาว่าคนขับรถทั้งสองฝ่ายประมาทด้วยกันทั้งคู่ ให้ลงโทษจำคุกคนละ 5 ปีเท่ากัน แสดงว่าคนขับรถทั้งสองฝ่ายต่างมีความประมาทเท่ากัน ค่าเสียหายต้องพับกันไปนั้น เห็นว่าในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งคือคดีนี้ คู่ความตกลงกันให้ถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา กล่าวคือถ้าศาลพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิด จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้าง ยอมรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ถ้าศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดจำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ แม้คดีส่วนอาญาศาลพิพากษาว่าคนขับรถทั้งสองฝ่ายมีความผิด ก็ยังแสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดด้วยอยู่นั่นเอง ในการพิพากษาส่วนแพ่งจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาตามที่คู่ความตกลงกัน แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 424 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 ในการพิพากษาคดีข้อความรับผิดเพื่อละเมิดและกำหนดค่าสินไหมทดแทนอันเป็นคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดทางอาญาหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2และนายประสิทธิ์ลูกจ้างของโจทก์ที่ 2 ต่างมีส่วนกระทำความผิดในการก่อให้เกิดความเสียหาย กรณีต้องปรับด้วยบทบัญญัติมาตรา 442 และ 223 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งศาลมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนสูงต่ำตามส่วนแห่งความยิ่งหย่อนของผู้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายโดยอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ แม้ในส่วนอาญาศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กับนายประสิทธิ์คนละ 5 ปีเท่ากัน ก็เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษในความผิดทางอาญา จะถือเป็นหลักในการวินิจฉัยความรับผิดทางแพ่งทั้งสองฝ่ายประมาทเท่ากันหาได้ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดใช้ค่าเสียหาย 3 ใน 5 ส่วนตามส่วนแห่งความยิ่งหย่อนของผู้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน