คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 444/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 2 ได้นำรถคันเกิดเหตุเข้ามาวิ่งร่วมในสัมปทานของบริษัทโจทก์ที่ 3 โดยโจทก์ที่ 2 ได้จดทะเบียนโอนรถเป็นของบริษัทโจทก์ที่ 3 ด้วย เพื่อจะได้วิ่งในเส้นทางสัมปทานได้ โจทก์ที่ 2 ที่ 3 จึงเป็นผู้ครอบครองรถคันดังกล่าวและดำเนินการร่วมกัน โจทก์ที่ 3 จึงมีอำนาจฟ้อง
จำเลยร่วมเพียงผู้เดียวที่ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้แต่เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยร่วมร่วมกันรับผิด ใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 แล้วจำเลยร่วมไม่อุทธรณ์ ประเด็นเรื่องอายุความสำหรับจำเลยร่วมย่อมยุติ เมื่อจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยอีกว่า คดีสำหรับจำเลยร่วมขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน และให้เรียกนางสาวบุปผาว่า โจทก์ที่ 1 เรียกนายแจ่มว่าโจทก์ที่ 2 และเรียกบริษัทสหายเพชรบุรี จำกัด ว่าโจทก์ที่ 3

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า นายเทียมฝุ่ง ลูกจ้างจำเลยที่ 1 และนายเขียวลูกจ้างจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์โดยประมาทโดยนายเทียมฝุ่งขับรถคันหมายเลขทะเบียน น.ฐ.14635 ของจำเลยที่ 1 ขึ้นหน้า รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.บ.02225 ของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 พร้อมกันนั้นนายเขียวได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.บ.05927 ของจำเลยที่ 2ขึ้นหน้ารถยนต์ 2 คันแรกนั้น และขับไปบนขอบสะพานเสียหลักแฉลบเข้าชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.ฐ.14635 จนเสียหลักพุ่งชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.น.02225 เป็นเหตุให้รถยนต์หมายเลขทะเบียนน.บ.02225 พลิกคว่ำข้างถนนเสียหายและโจทก์ที่ 1 ซึ่งโดยสารอยู่ในรถยนต์ดังกล่าวได้รับบาดเจ็บสาหัส ขาขวาขาดขาซ้ายพิการเสียค่ารักษาพยาบาลและค่าขาเทียม 20,000 บาท ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตลอดชีวิตคิดเป็นเงิน 200,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 220,000 บาทโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้รับความเสียหายเป็นค่าซ่อมรถ 18,000 บาทขาดรายได้ 26,400 บาท รถเสื่อมราคา 6,000 บาท รวมค่าเสียหาย50,400 บาท ทั้งนี้นายเทียมฝุ่งและนายเขียวลูกจ้างจำเลยที่ 1 ที่ 2ได้กระทำในทางการที่จ้างและจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.ฐ.14635 ของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ศาลบังคับ

โจทก์ทั้งสองสำนวนขอให้ศาลหมายเรียกนางหรอยเข้ามาเป็นจำเลยร่วมศาลมีคำสั่งอนุญาต

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การทั้งสองสำนวน

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์สำนวนหลังเกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยร่วมให้การทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ใช่ผู้เสียหายโจทก์ที่ 2 ที่ 3 มิใช่เจ้าของรถ โจทก์ที่ 2 มิใช่นิติบุคคล ไม่มีวัตถุประสงค์ประกอบการขนส่ง จำเลยร่วมไม่มีเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.ฐ.14635 และไม่ใช่นายจ้างนายเทียมฝุ่งเหตุประมาทเกิดจากนายเขียวผู้เดียว ฟ้องโจทก์สำนวนหลังเคลือบคลุม คดีโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และจำเลยร่วม ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 165,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยและให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 2 ที่ 3 รวม 30,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ทั้งนี้ ให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ไม่เกิน 10,000 บาท

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีสำหรับจำเลยร่วมขาดอายุความทั้งสองสำนวน จำเลยร่วมผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิด ดังนั้นจำเลยที่ 3ผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทุกคนทุกสำนวน คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่น พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 3

ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์นายหนึ่งนำความเห็นแย้งว่า คดีสำหรับจำเลยร่วมไม่ขาดอายุความ

โจทก์ทุกคนฎีกาทั้งสองสำนวน

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยร่วมเท่านั้นที่ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ศาลชั้นต้นฟังว่าฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความ และพิพากษาให้จำเลยที่ 1,ที่ 2, ที่ 3 และจำเลยร่วมร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1, ที่ 2 และที่ 3 จำเลยร่วมไม่อุทธรณ์ ประเด็นเรื่องอายุความสำหรับจำเลยร่วมย่อมยุติไปแล้ว ศาลอุทธรณ์ไม่ชอบที่จะหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยอีก ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 โดยเห็นว่าคดีสำหรับจำเลยร่วมขาดอายุความแล้วจำเลยที่ 3 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น และโดยที่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาอื่น ๆที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้นไปเสียทีเดียว โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ดังต่อไปนี้

ปัญหาข้อแรกที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า โจทก์ที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 3 เป็นบริษัทจำกัด ซึ่งโจทก์ที่ 2 ได้นำรถยนต์คันเกิดเหตุหมายเลขทะเบียน พ.บ.02225 เข้ามาวิ่งร่วมในสัมปทานของบริษัท โดยโจทก์ที่ 2 ได้จดทะเบียนโอนรถเป็นของบริษัทโจทก์ที่ 3 ด้วย เพื่อจะได้วิ่งในเส้นทางสัมปทานได้ เห็นได้ว่า โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ครอบครองรถคันนี้และดำเนินกิจการเดินรถร่วมกัน โจทก์ที่ 3 จึงมีอำนาจฟ้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีสำหรับจำเลยที่ 3 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share