แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญาประกันตัว จ. ไว้กับพนักงานสอบสวนแล้วไม่ส่ง จ. ให้แก่พนักงานสอบสวนตามนัด เป็นการผิดสัญญา ถึงแม้ภายหลังจะมีพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมยกเว้นความผิดให้แก่ จ. ก็หาทำให้จำเลยพ้นจากความรับผิดตามสัญญาไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานสอบสวน จำเลยได้ทำสัญญาประกันตัวนางสาวจิตรา วิสุทธิโก ซึ่งต้องหาคดี 6 ตุลาคม 2519 ไว้กับโจทก์แล้วไม่ส่งตัวนางสาวจิตราผู้ต้องหาให้โจทก์ตามนัด ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน20,000 บาทตามสัญญาประกัน
จำเลยให้การว่า ได้ทำสัญญาประกันดังกล่าวไว้กับพนักงานสอบสวนจริงแต่ต่อมาได้มีพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้นางสาวจิตราพ้นจากความผิดแล้วจึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยจะต้องส่งตัว ขอให้ศาลยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์จำเลยแถลงสละประเด็นข้อพิพาทอื่น ขอให้ศาลชี้ขาดประเด็นข้อเดียวว่า พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ดังกล่าวมีผลให้สัญญาประกันที่จำเลยทำไว้ยกเลิกไปหรือไม่ ถ้ายกเลิก โจทก์ยอมแพ้ ถ้าไม่ยกเลิก จำเลยยอมแพ้
ศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่ยกเลิก พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 20,000 บาทแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยได้ทำสัญญาประกันนางสาวจิตราเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2519 วันที่พนักงานสอบสวนสั่งให้จำเลยนำนางสาวจิตรามาส่งคือวันที่ 16 ตุลาคม 2519 พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดตามที่นางสาวจิตราผู้ถูกกล่าวหาออกมามีผลใช้บังคับวันที่ 15 กันยายน 2521 นับแต่วันที่กฎหมายนี้ออกมา นางสาวจิตราพ้นจากความผิดพนักงานสอบสวนหมดอำนาจควบคุมถ้าควบคุมอยู่ก็จะต้องปล่อยตัวไป แต่ในระหว่างก่อนที่กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับนางสาวจิตรายังเป็นผู้ต้องหา ถ้าไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันก็จะต้องถูกควบคุมตัวเห็นได้ว่าในวันที่ 16 ตุลาคม 2519 ที่พนักงานสอบสวนให้จำเลยส่งตัวนางสาวจิตรานั้นสัญญาประกันหาถูกยกเลิกไม่ จำเลยจึงต้องแพ้คดี
พิพากษายืน