คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2532/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยรับเงินและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมด้วยตึกแถวให้แก่โจทก์ จำเลยถึงแก่กรรมในระหว่างการบังคับคดี หน้าที่และความรับผิดย่อมตกทอดแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 14999, 1600 ไม่ใช่เป็นเรื่องคดีค้างพิจารณาอันจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42, 44 ดังนั้น ศาลชั้นต้นจึงอาจออกคำบังคับแก่ผู้จัดการมรดกของจำเลยได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียกหรือมีคำสั่งให้ผู้จัดการมรดกของจำเลยเข้ามาเป็นคู่ความแทนจำเลยเสียก่อนแต่อย่างใด
การที่โจทก์ขอให้บังคับคดีหลังจากคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว 7 ปีเศษ เป็นการขอให้บังคับคดีภายในกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยขอปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้โจทก์ก่อนโจทก์แถลงขอให้ออกคำบังคับ โจทก์ย่อมมีสิทธิกระทำได้โดยไม่ต้องให้ผลประโยชน์หรือดอกเบี้ยแก่จำเลยเพราะคำพิพากษามิได้กล่าวไว้เช่นนั้น

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยโอนตึกแถวและที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขาย ศาลฎีกาพิพากษาให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยรับเงินที่ค้างชำระ ๔๕,๐๐๐ บาท กับค่าเสียหายและค่าโอนกรรมสิทธิ์ ๑๕,๐๐๐ บาท รวม ๖๐,๐๐๐ บาทจากโจทก์ ให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน พร้อมด้วยตึกแถวเลขที่ ๒๘๖ และ ๒๘๔ ให้แก่โจทก์หรือบุตรของโจทก์ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดพระนคร ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ศาลชั้นต้นก่อนคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕ ต่อมาจำเลยถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๒๑ ครั้นวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๒๒ ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้พลตรีบัลลังก์และนางสมใจเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลย โจทก์ได้ยื่นคำแถลงลงวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๒๒ ขอให้ออกคำบังคับแก่ผู้จัดการมรดกของจำเลย ศาลแพ่งสั่งตามที่โจทก์ขอ
ผู้จัดการมรดกของจำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นว่า ศาลชั้นต้นต้องมีหมายเรียกผู้จัดการมรดกของจำเลยเข้ามาเป็นคู่ความเสียก่อนแล้วจึงส่งคำบังคับให้ การที่ศาลชั้นต้นไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวถือว่าเป็นการไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนคำบังคับของศาลชั้นต้น ส่วนเรื่องการบังคับให้ผู้จัดการมรดกของจำเลยโอนตึกแถวและที่ดินให้โจทก์นั้น โจทก์ขอให้ออกคำบังคับหลังจากศาลฎีกาพิพากษาเป็นเวลาหลายปี ค่าของเงินตกต่ำมาก กองมรดกของจำเลยควรได้ประโยชน์จากโจทก์บ้าง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้จัดการมรดกของจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วและจำเลยถึงแก่กรรมในระหว่างการบังคับคดีหน้าที่และความรับผิดย่อมตกทอดแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๙, ๑๖๐๐ ไม่ใช่เป็นเรื่องคดีค้างพิจารณาอันจะต้องปฏิบัติตามมาตรา ๔๒, ๔๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น ศาลชั้นต้นจึงอาจออกคำบังคับแก่ผู้จัดการมรดกของจำเลยได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียกหรือมีคำสั่งให้ผู้จัดการมรดกของจำเลยเข้ามาเป็นคู่ความแทนจำเลยเสียก่อนแต่อย่างใด
ปัญหาต่อไปมีว่า การที่โจทก์ขอให้บังคับคดีหลังจากคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ๗ ปีเศษ โจทก์จะต้องให้ผลประโยชน์หรือดอกเบี้ยแก่จำเลยหรือไม่ ตามมาตรา ๒๗๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติไว้ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีตามพิพากษาได้ภายใน ๑๐ ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยขอปฏิบัติการชำระหนี้โอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้โจทก์ก่อนโจทก์แถลงขอให้ออกคำบังคับ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้บังคับคดีได้ภายในกำหนดดังกล่าว โดยไม่ต้องให้ผลประโยชน์หรือดอกเบี้ยแก่จำเลยแต่อย่างใด เพราะคำพิพากษามิได้กล่าว
พิพากษายืน โจทก์เรียงคำแก้ฎีกาเอง จึงไม่ต้องกำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้แก่โจทก์

Share