คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1464/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์บอกเลิกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแก่จำเลยที่ 1 โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาเดิมของจำเลยร่วม ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 และไม่มีผู้รับหนังสือบอกเลิกฉบับนั้นยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปถึงจำเลยที่ 1 โดยชอบแล้วสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2527ตามการ์ดบัญชีกระแสรายวัน ปรากฏว่าในวันที่ 27 เมษายน 2527จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ 301,046.27 บาท จากนั้นจนถึงวันที่สัญญาสิ้นสุดลง และในเวลาต่อมาไม่มีการเบิกเงินหรือนำเงินเข้าบัญชีจึงไม่มีการเดินสะพัดและหักทอนบัญชีกันอีกต่อไป พฤติการณ์แสดงว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญากันอีกต่อไปแล้ว สัญญาบัญชีเดินสะพัดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงสิ้นสุดลงนับแต่ถึงกำหนดในสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856หาจำต้องบอกเลิกสัญญาหรือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้ก่อนสัญญาจึงจะเลิกกันไม่ เมื่อสัญญาสิ้นสุดลงแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นต่อไป โจทก์จะต้องหักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้เสียในวันที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลง และจำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว หากมีหนี้เหลืออยู่เท่าใดโจทก์จึงมีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ส่วนนั้น พร้อมด้วยดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดโดยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับโจทก์ วันที่ 24 พฤศจิกายน2526 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ สาขาท่าแพวงเงิน 80,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีกำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกวันสิ้นเดือนหากผิดนัดยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเป็นต้นเงิน ตามประเพณีของธนาคารพาณิชย์และตกลงชำระหนี้คืนทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 24 พฤษภาคม 2527จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 เบิกเงินเดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมาจนวันที่ 26 มกราคม 2530จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 144,053.81 บาทโจทก์ให้ทนายความทวงถาม จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 144,053.81 บาท แก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะยังไม่มีการบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัด และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดนัดและไม่ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2526 เพราะจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มสัญญาโดยไม่ได้มีการกรอกข้อความ โจทก์กรอกแบบฟอร์มโดยทุจริต เงินส่วนที่เบิกเกินจากบัญชีมีการชำระให้โจทก์เรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เพียง 80,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนดเป็นโมฆะขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นให้เรียกนายกมลหรือศิวเมธอังศุพงศ์พันธุ์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม จำเลยร่วมไม่ยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงิน 94,848.42 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2526 และจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2526 ตามลำดับดังโจทก์อ้างตามสัญญาค้ำประกัน ข้อ 1 จำเลยที่ 2 ตกลงเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีต่อโจทก์ หนี้ทั้งปวงจึงยังคงผูกพันจำเลยที่ 2 อยู่จนกว่าหนี้นั้นจะได้รับชำระเสร็จสิ้นเชิง
แล้ววินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1โดยส่งหนังสือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาเดิมของจำเลยร่วม ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1และไม่มีผู้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาฉบับนั้น ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปถึงจำเลยที่ 1โดยชอบแล้ว แต่ปรากฏตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันว่าสัญญาสิ้นสุดลงในวันที่ 24 พฤษภาคม 2527และตามการ์ดบัญชีกระแสรายวัน ปรากฏว่าในวันที่ 27 เมษายน 2537จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ 301,046.27 บาท จากนั้นจนถึงวันที่สัญญาสิ้นสุดลง และในเวลาต่อมาไม่มีการเบิกเงินหรือนำเงินเข้าบัญชีจึงไม่มีการเดินสะพัด และหักทอนบัญชีกันอีกต่อไป พฤติการณ์แสดงว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญากันอีกต่อไปแล้ว สัญญาบัญชีเดินสะพัดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวจึงสิ้นสุดลงนับแต่ถึงกำหนดในสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 หาจำต้องบอกเลิกสัญญาหรือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้ก่อนสัญญาจึงจะเลิกกันไม่ เมื่อสัญญาสิ้นสุดลงแล้วก็ไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาอีก โจทก์มีอำนาจฟ้อง และเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นต่อไป กับทั้งชอบที่โจทก์จะต้องหักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำชำระหนี้แก่โจทก์เสียในวันที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงแล้ว และจำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้วหากมีหนี้เหลืออยู่เท่าใด โจทก์จึงมีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ส่วนนั้นพร้อมด้วยดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้น อัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี จากจำเลยที่ 1ซึ่งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2527 ศาลชั้นต้นกำหนดให้อัตราร้อยละ 15 ต่อปี คู่ความมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งไว้จึงให้คิดในอัตราดังกล่าวต่อไป ปัญหาเรื่องดอกเบี้ยทบต้นที่ศาลล่างทั้งสองได้กำหนดมากไปกว่าที่จำเลยจะต้องรับผิดเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ตามจำนวนที่คำนวณได้จากต้นเงิน 301,046.27 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปี ในวงเงิน 200,000 บาท ส่วนที่เกินคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี โดยคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นนับแต่วันที่ 27 เมษายน 2527 จนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2527เป็นยอดเงินรวมทั้งหมดเท่าใด แล้วให้นำยอดเงินจำนวน 200,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 มาหักชำระหนี้แก่โจทก์ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2527 หนี้ส่วนที่เหลือให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี แบบไม่ทบต้นต่อไป จนถึงวันที่ 19 ตุลาคม2527 ส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้คิดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share