คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 700/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยที่1 ผิดสัญญาไม่ยอมจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์โจทก์มิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินให้แต่ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกเงินมัดจำกับค่าปรับ และศาลได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้วโจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ กล่าวอ้างว่าภายหลังที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ยอมจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้โจทก์แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยร่วมกันฉ้อฉล ทั้งที่จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าโจทก์เป็นคู่สัญญาจะซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้คืนเงินมัดจำและชำระค่าปรับ แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดจะชำระหนี้ให้โจทก์ได้นอกจากที่ดินแปลงดังกล่าวแปลงเดียว ทำให้โจทก์เสียหายไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจะซื้อขาย ดังนี้หากข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 อาจเป็นการฉ้อฉล อันจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ โจทก์วางมัดจำไว้บางส่วน ที่เหลือจะชำระเมื่อจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้โจทก์เรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 1 ตกลงว่าเมื่อได้รับมรดกที่ดินดังกล่าวเมื่อใดจะไปจดทะเบียนโอนขายแก่โจทก์ภายใน 540 วัน หากโจทก์ผิดสัญญาไม่ซื้อ จำเลยที่ 1 ริบมัดจำได้ ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ขาย ยอมให้โจทก์ปรับเป็นเงินจำนวนหนึ่งพร้อมคืนเงินมัดจำ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้รับมรดกที่ดินดังกล่าว แต่ไม่ยอมไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อฉลโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์เป็นคู่สัญญาซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้คืนมัดจำและชำระค่าปรับแล้วแต่จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดจะชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นสัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำก่อนที่จำเลยที่ 1 จะได้รับกรรมสิทธิ์มาเป็นโมฆะและยังไม่ถึงกำหนดที่จะโอนตามสัญญา โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้คืนเงินมัดจำกับค่าเสียหายแล้ว สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ย่อมระงับไป โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ยังมีที่ดินและบ้านนอกจากที่ดินพิพาท การซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองกระทำโดยสุจริตเปิดเผยและเสียค่าตอบแทน ซึ่งโจทก์ทราบแต่ไม่คัดค้าน ขอให้ยกฟ้อง

ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ได้ความว่ากรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ยอมจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์นั้น โจทก์มิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินให้แต่ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกเงินมัดจำกับค่าปรับ และศาลได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าภายหลังที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ยอมจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้โจทก์แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยร่วมกันฉ้อฉล ทั้งที่จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าโจทก์เป็นคู่สัญญาจะซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1ให้คืนเงินมัดจำและชำระค่าปรับ แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดจะชำระหนี้ให้โจทก์ได้นอกจากที่ดินแปลงดังกล่าวแปลงเดียว ทำให้โจทก์เสียหายไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจะซื้อจะขาย ดังนี้หากข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 อาจเป็นการฉ้อฉลอันจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบได้ โจทก์จึงมีอำนาจขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ที่ศาลอุทธรณ์ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share