คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1931/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำใบเสร็จรับเงินค่าภาษีรถยนต์ที่ ช.นำมาชำระ แม้จำเลยจะได้ประทับตราชื่อของจำเลยเป็นผู้รับเงินและมีรายการเสียภาษีตามความเป็นจริงทุกประการ ก็ตามแต่จำเลยใช้ฉบับที่และเล่มที่ของใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นซ้ำกับฉบับที่และเล่มที่ของใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงที่มีการนำส่งเงินภาษีที่เก็บได้ต่อทางราชการโดยจำเลยมีเจตนาจะให้ผู้ที่ได้พบเห็นใบเสร็จเหล่านั้น เข้าใจว่าเป็นใบเสร็จที่ใช้ฉบับที่และเล่มที่ตามลำดับ ไม่ซ้ำกับฉบับที่และเล่มที่ของใบเสร็จอื่น ๆ และได้มีการส่งเงินตามใบเสร็จเหล่านั้นต่อทางราชการตามระเบียบด้วยจำเลยจึงต้อง มีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ เพราะเป็นเอกสารที่ทางราชการทำขึ้น
ใบเสร็จรับเงินไม่ใช่เอกสารสิทธิ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 889/2490)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ รับราชการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำแผนกทะเบียนยานพาหนะกองกำกับการตำรวจภูธร จังหวัดนครสวรรค์ จำเลยที่ ๒ รับราชการเป็นตำรวจประจำแผนกทะเบียนยานพาหนะ กองกำกับการตำรวจภูธร จังหวัดนครสวรรค์ มีหน้าที่ตรวจทำและดำเนินการเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับยานพาหนะ ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารและดูแลรักษาเอกสารเกี่ยวกับยานพาหนะทั้งหมด เขียนใบเสร็จรับเงินและรับชำระเงินค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เกี่ยวกับยานพาหนะ เขียนใบเสร็จรับเงินและรับชำระเงินค่าภาษีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และใช้เครื่องยนต์ทุกประเภท และรักษาเงินที่รับได้ดังกล่าวนั้นจัดการนำส่งสมุหบัญชีกองกำกับการตำรวจภูธร จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อนำส่งคลังเป็นรายได้ของรัฐ และมีหน้าที่รักษาและใช้ดวงตราและรอยตราของนายทะเบียนยานพาหนะ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นดวงตราและรอยดวงตราของเจ้าพนักงานและของทางราชการตามกฎหมาย เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๑๕ เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันรับเงินค่าภาษีรถยนต์ ๒๕ คัน รวมเงิน ๕๘,๓๐๐ บาท ของห้างหุ้นส่วนจำกัดสหพันธ์เดินรถท่าตะโกไว้ จากนายชลอ อาจบุตร ผู้จัดการห้างหุ้นส่วน ดังกล่าวเป็นการชำระค่าภาษีรถยนต์งวดที่ ๑ ถึงงวดที่ ๔ ประจำปี พ.ศ.๒๕๑๕ และจำเลยทั้งสองมีหน้าที่รักษาเงินดังกล่าวและจัดการนำเงินนั้นส่งสมุหบัญชีกองกำกับการตำรวจภูธร จังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างตั้งแต่วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๑๕ เวลากลางวัน ถึงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๑๕ เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองบังอาจร่วมกันเบียดบังเอาเงิน ๕๘,๓๐๐ บาท ซึ่งเป็นเงินค่าภาษีรถยนต์ ๒๕ คันดังกล่าวโดยทุจริต ไม่นำเงินส่งสมุหบัญชี กองกำกับการตำรวจภูธร จังหวัดนครสวรรค์ ตามหน้าที่ อันเป็นการใช้อำนาจในตำแห่งหน้าที่โดยทุจริต และปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่โดยทุจริต และเสียหายแก่รัฐ และเมื่อตั้งแต่วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๑๕ เวลากลางวัน ถึงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๑๕ เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกันทำใบรับเงินของนายทะเบียนยานพาหนะ จังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารปลอมขึ้นทั้ง ๒๕ ฉบับ มีข้อความเป็นใบรับเงินฉบับที่ ๑ เล่มที่ ๔๕๔/๑๕ ถึงฉบับที่ ๒๕ เล่มที่ ๔๕๔/๑๕ ซึ่งนายทะเบียนยายพาหนะจังหวัดนครสวรรค์ได้ออกให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหพันธ์เดินรถท่าตะโกเป็นหลักฐาน ว่านายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดนครสวรรค์ได้รับเงินค่าภาษีรถยนต์หมายเลขทะเบียน และจำนวนเงินค่าภาษีตามที่ระบุในใบรับเงินไว้จากห้างหุ้นส่วนจำกัด สหพันธ์เดินรถท่าตะโก ตั้งแต่วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๑๕ แล้ว และจำเลยทั้งสองบังอาจร่วมกันนำเอาดวงตราของนายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นดวงตราของเจ้าพนักงานตามกฎหมายที่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่รักษาและใช้ดังกล่าวใช้ประทับลงในใบรับเงิน ๒๕ ฉบับ ซึ่งจำเลยทั้งสองร่วมกันทำปลอมขึ้นโดยมิชอบด้วยหน้าที่ ทำให้กรมตำรวจ นายทะเบียนจังหวัดนครสวรรค์ ประชาชน นายชลอ อาจบุตร และห้างหุ้นส่วนจำกัด สหพันธ์ท่าตะโกเสียหาย จำเลยทั้งสองร่วมกันทำใบเสร็จรับเงินดังกล่าวเพื่อให้กรมตำรวจ นายทะเบียนยายพาหนะจังหวัดนครสวรรค์ ประชาชน นายชลอ อาจบุตร และห้างหุ้นส่วนจำกัดสหพันธ์เดินรถท่าตะโกหลงเชื่อว่าเป็นใบรับเงินค่าภาษีรถยนต์ที่แท้จริง จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมใบรับเงิน ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการดังกล่าวโดยอาศัยที่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ทำเอกสารและดูแลรักษาเอกสาร และระหว่างวันเวลาดังกล่าว จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เอกสารปลอมโดยร่วมกันมอบใบรับเงินปลอมทั้ง ๒๕ ฉบับ ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหพันธ์เดินรถท่าตะโกไปเพื่อเป็นหลักฐานว่านายทะเบียนยายพาหนะจังหวัดนครสวรรค์ได้รับเงินค่าภาษีรถยนต์ ๒๕ คัน ดังกล่าวไว้แล้วแต่ความจริงจำเลยทั้งสองร่วมกันเบียดบังเอาเงินค่าภาษีรถยนต์ ๒๕ คัน รวมเป็นเงิน ๕๘,๓๐๐ บาท เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต ใบรับเงินฉบับที่ ๑ เล่มที่ ๔๕๔/๑๕ ถึงฉบับที่ ๒๕ เล่มที่ ๔๕๔/๑๕ รวม ๒๕ ฉบับ ที่แท้จริงเป็นใบรับเงินที่นายทะเบียนยายพาหนะจังหวัดนครสวรรค์ออกให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งมิใช่ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหพันธ์เดินรถท่าตะโก และเป็นใบรับเงินค่าภาษีรถยนต์คันอื่น ซึ่งมิใช่รถยนต์ตามที่ระบุไว้ในใบรับเงินปลอมทั้ง ๒๕ ฉบับแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต และเป็นการปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและเสียหายแก่รัฐ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗, ๑๕๑,๑๕๗,๑๖๐,๑๖๑,๒๕๓,๒๖๔,๒๖๕,๒๖๖,๓๕๒,๘๑,๘๓,๓๒,๓๓ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๓,๗,๑๓ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๒ ริบใบรับเงินปลอมของกลาง ให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้เงิน ๕๘,๓๐๐ บาท แก่กรมตำรวจ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเบียดบังเงินค่าธรรมเนียมภาษีรถยนต์ตามฟ้องของตนโดยทุจริต และนำเอาดวงตราของนายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดนครสวรรค์มาใช้โดยมิชอบ แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นการปลอมเอกสาร เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตาม มาตรา ๑๔๗,๓๕๒ ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๑๕๗ อันเป็นบททั่วไปอีก พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗,๓๕๒,๘๓ กระทงหนึ่ง ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๔๗ บทหนัก จำคุก ๖ ปี และจำเลยทั้งสองผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๕๓ (ประกอบด้วยมาตรา ๒๕๑) อีกกระทงหนึ่ง จำคุก ๑ ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๗ ปี ริบใบรับเงินของกลางให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินหรือคืนเงิน ๕๘,๓๐๐ บาท แก่กรมตำรวจ ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการด้วย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า รูปคดียังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ ๒ ร่วมกับ จำเลยที่ ๑ กระทำผิดตามฟ้องด้วย พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและตามฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ด้วย
จำเลยที่ ๑ ฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๑๕ เวลา ๙.๐๐ นาฬิกา นายชลอ อาจบุตร ได้นำเงินค่าภาษีรถยนต์ของห้ามหุ้นส่วนจำกัด สหพันธ์เดินรถท่าตะโกประจำปี ๒๕๑๕ จำนวน ๒๕ คัน เป็นเงิน ๕๘,๓๐๐ บาท ไปชำระที่แผนกยานพาหนะ จังหวัดนครสวรรค์ และได้รับใบเสร็จรับเงินตามฟ้อง รวม ๒๕ ฉบับไป ใบเสร็จทั้ง ๒๕ ฉบับมีตรายางลายมือชื่อจำเลยที่ ๑ ประทับไว้ในช่องผู้เขียน แต่ผู้เขียนที่แท้จริงคือ นางสาวนิตยา อัมพุช บุตรสาวของจำเลยที่ ๒ มีรอยตราที่แท้จริงของนายทะเบียนยานพาหนะ จังหวัดนครสวรรค์ประทับไว้ทุกฉบับ เมื่อมีการตั้งกรรมการสอบสวนทุจริตในแผนกยานพาหนะ จังหวัดนครสวรรค์คณะกรรมการตรวจพบว่า ต้นขั้ว ใบเสร็จรับเงินเล่มที่ ๔๕๔/๒๕๑๕ ซึ่งเป็นเล่มที่ตรงกับใบเสร็จตามฟ้องเป็นรายการเสียภาษีรถคันอื่น ๆ ไม่ใช่รถของห้างหุ้นส่วน จำกัด สหพันธ์ เดินรถ ท่าตะโกทั้ง ๒๕ คันนั้น และไม่มีรายการแสดงการเสียภาษีรถยนต์ไว้ในบัญชีไว้ในบัญชีเงินสดประจำวันนั้นของแผนกยานพาหนะด้วย จำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับเงินค่าภาษีรถยนต์ไว้จากนายชลอดตามฟ้องจริง แล้วนำใบเสร็จรับเงินเสนอต่อพันตำรวจโทชาญ ตุงตะเตชะให้ลงนามในใบเสร็จรับเงินในฐานะนายทะเบียน โดยใช้ฉบับที่และเล่มที่ของใบเสร็จตั้งแต่ฉบับที่ ๑ เล่มที่ ๔๕๔/๑๕ ถึงฉบับที่ ๒๕ เล่มที่ ๔๕๔/๑๕ ลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๑๕ ตีตรานายทะเบียนยานพาหนะในใบเสร็จเหล่านั้น และยักยอกเงินค่าภาษีรถยนต์ที่นาชลอนำมาชำระรวม ๕๘,๓๐๐ บาทไว้ ทั้งที่โดยจำเลยที่ ๑ ไม่เก็บต้นขั่วใบเสร็จและรวบรวมสำเนาใบเสร็จส่วนที่ ๒ ส่งกรมตำรวจตามหน้าที่ เพราะไม่ต้องการให้เป็นหลักฐานว่าได้มีผู้เสียภาษีรถยนต์ตามต้นขั้วและสำเนาใบเสร็จส่วนที่ ๒ นั้น ๆ และปรากฏหลักฐานว่าแผนกยานพาหนะ กองกำกับการตำรวจภูธร จังหวัดนครสวรรค์ ได้ออกใบเสร็จฉบับที่และเล่มที่เดียวกันกับใบเสร็จที่จำเลยที่ ๑ มอบให้นายชลอทั้ง ๒๕ ฉบับ และได้นำส่งเป็นเงินรายได้ต่อสมุหบัญชีตามระเบียบ อันแสดงว่าการที่จำเลยที่ ๑ ใช้ฉบับที่และเล่มที่ของใบเสร็จที่ออกให้กับนายชลอซ้ำกับฉบับที่และเล่มที่ของใบเสร็จที่ได้มีการนำส่งเงินตามใบเสร็จนั้น ๆ ต่อสมุหบัญชี ก็เพื่อจะให้ผู้ที่พบเห็นใบเสร็จที่จำเลยที่ ๑ ออกให้กับนายชลอเข้าใจว่าใบเสร็จที่ลอกให้กับนายชลอเป็นในเสร็จที่แท้จริงถูกต้องตามระเบียบราชการส่วนจำเลยที่ ๒ นั้น ได้รู้เห็นขณะจำเลยที่ ๑ ได้รับเงินค่าภาษีรถยนต์จากนายชลอด้วย จำเลยที่ ๒ จึงมีส่วนร่วมกระทำผิดยักยอกจำนวนดังกล่าวด้วย
ในปัญหาที่ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารทางราชการตามที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ ๑ ทำใบเสร็จรับเงินค่าภาษีรถยนต์ที่นายชลอ อาจบุตร นำมาชำระนั้น แม้จำเลยที่ ๑ จะได้ประทับตราชื่อของจำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับเงินและมีรายการเสียภาษีตามความเป็นจริงทุกประการก็ตาม แต่จำเลยที่ ๑ ใช้ฉบับที่และเล่มที่ของใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นซ้ำกับฉบับที่และเล่มที่ขอใบเสร็จที่แท้จริงที่มีการนำส่งเงินภาษีที่เก็บได้ต่อทางราชการโดยจำเลยมีเจตนาจะให้ผู้ที่ได้พบเห็นใบเสร็จเหล่านั้นเข้าใจว่า เป็นใบเสร็จที่ใช้ฉบับที่และเล่มที่ตามลำดับไม่ซ้ำกับฉบับที่และเล่มที่ของใบเสร็จอื่น ๆ และได้มีการส่งเงินตามใบเสร็จเหล่านั้นต่อทางราชการตามระเบียบด้วย จำเลยที่ ๑ จึงต้องมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการอีกกระทงหนึ่งเพราะเป็นเอกสารที่ทางราชการทำขึ้น แต่ใบเสร็จรับเงินไม่ใช่เอกสารสิทธิดังที่โจทก์ฎีกา เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๘๙/๒๔๙๒ คดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดสงขลาโจทก์ นายปรีชา นันต์ธนา จำเลย ส่วนจำเลยที่ ๒ นั้นข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ มีส่วนร่วมในการปลอมใบเสร็จรับเงิน เพราะไม่ได้ความว่า จำเลยที่ ๒ ทราบถึงการที่จำเลยที่ ๑ ใช้ฉบับที่และเล่มที่ซ้ำกับใบเสร็จที่แท้จริงในขณะที่จำเลยที่ ๑ ให้นางสาวนิตยาเขียนใบเสร็จฉบับที่และเล่มที่ปลอม จำเลยที่ ๒ อาจเข้าใจว่า จำเลยที่ ๑ ออกใบเสร็จฉบับที่และเล่มที่ตามความเป็นจริง แล้วยักยอกเงินค่าภาษีไว้ไม่นำส่งต่อจำเลยที่ ๒ ดังที่จำเลยถูกกล่าวหาในคดีอื่น หรือมารู้ความจริงภายหลังที่จำเลยที่ ๑ กระทำผิดปลอมใบเสร็จนั้นไปแล้ว จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีความผิดฐานนี้ด้วย
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๑,๒๖๕,๒๕๓ ซึ่งเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม มาตรา ๑๖๑ ซึ่งเป็นบทหนัก อีกกระทงหนึ่ง จำคุกสามปี รวมเป็นโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนดเก้าปี จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗,๓๕๒,๘๓ กระทงหนึ่ง ให้ลงโทษตาม มาตรา ๑๔๗ ซึ่งเป็นบทหนักจำคุกหกปี และผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๕๓ อีกกระทงหนึ่งจำคุกหนึ่งปี รวมเป็นโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนดเจ็ดปี ริบใบรับเงินของกลางให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงิน ๕๘,๓๐๐ บาทแก่กรมตำรวจนอกจากที่แก้คงให้เป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share