คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 473/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยบุตรีผู้เสียหายซึ่งเป็นภรรยาโดยพฤตินัยของจำเลยนัดให้ไปพบ ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปโดยมีเหตุอันควร และแม้เมื่อผู้เสียหายได้ไล่จำเลยให้ออกไป แต่จำเลยไม่ยอมออก ทั้งนี้ เพื่อขอร้องภรรยาจำเลยให้กลับไปอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาดังเดิม ดังนี้ เห็นได้ว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานบุกรุก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยโดยไม่มีเหตุอันควรได้เข้าไปในบริเวณบ้านอันเป็นเคหะสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต และผู้เสียหายได้ไล่ให้จำเลยออกไปแต่จำเลยไม่ยอมออก ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๔, ๓๖๕ (๓)
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๔, ๓๖๕ (๓) จำคุก ๖ เดือน ปรับ ๑,๐๐๐ โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความว่า เดิมนางสุภาภรณ์บุตรผู้เสียหายเคยหนีออกจากบ้านไปจดทะเบียนสมรสและอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย ต่อมาได้จดทะเบียนหย่าขาดกัน แล้วนางสุภาภรณ์กับจำเลยได้แต่งงานกันอีกโดยได้กระทำตามประเพณีนิยม มีการออกบัตรเชิญแขกไปเป็นเกียรติในพิธีมงคลสมรส ปรากฏตามเอกสารหมาย ล. ๑ และภาพถ่ายหมาย ล. ๒ ถึง ล. ๔ แม้จะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันก็ถือว่านางสุภาภรณ์กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยพฤตินัย และนางสุภาภรณ์เพิ่งหนีไปอยู่กับผู้เสียหายก่อนเกิดเหตุเพียง ๒ – ๓ วันเท่านั้น การที่จำเลยเข้ามาในบ้านผู้เสียหายก็ได้ความจากตัวผู้เสียหาย นางอุไร และนางสุภาภรณ์ ตรงกันว่าจำเลยจะมาขอคืนดีกับนางสุภาภรณ์ ทั้งปรากฏว่านางสุภาภรณ์เป็นผู้นัดแนะให้จำเลยมาพบที่บ้านในวันเกิดเหตุ การที่จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายดังกล่าว นับว่าเข้าไปโดยมีเหตุอันควร แม้จะได้ความว่าผู้เสียหายได้ไล่จำเลยให้ออกจากบ้าน จำเลยไม่ยอมออกก็ตาม ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยไม่ยอมออกจากบ้านผู้เสียหายก็เพื่อจะขอร้องให้นางสุภาภรณ์กลับไปอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาตามเดิมพฤติการณ์ดังกล่าวได้เห็นว่า จำเลยไม่มีเจตนาบุกรุกเคหะสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง
พิพากษายืน

Share