แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 56 วรรคท้ายมีความหมายว่า การที่ คชก. จังหวัดมีมติกลับคำวินิจฉัยของ คชก. ตำบลประการใดแล้ว ไม่เป็นเหตุที่คู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่านาจะฟ้องคชก.ตำบล หรือคชก.จังหวัดเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดดังกล่าวแต่มาตรา 57 ยังเปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดต่อศาลได้อีกเพื่อให้ศาลได้พิจารณาคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดต่อไปยังมิได้ยุติเป็นที่สุด ดังนั้นฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นเรื่องการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดในเรื่องการเช่านาตามที่กฎหมายให้สิทธิไว้
ตามมาตรา 37 การบอกเลิกการเช่านาจะมีผลก็ต่อเมื่อผู้ให้เช่านาได้บอกเลิกเป็นหนังสือและต้องให้ผู้เช่านาทราบล่วงหน้าก่อนสิ้นระยะการเช่าตามมาตรา 26 (หกปี) เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี เมื่อข้อเท็จจริงโจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์บอกเลิกการเช่านาให้จำเลยทราบเมื่อปี พ.ศ. 2524 ระยะเวลาการบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงมีผลครบกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีในปี พ.ศ. 2525 แต่โจทก์จำเลยรับกันว่าโจทก์ให้จำเลยเช่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2518 การทำนาเริ่มทำในเดือนพฤษภาคม ดังนั้นระยะเวลาเช่านาจะสิ้นระยะเวลาครบ 6 ปีตามมาตรา 26 ในเดือนพฤษภาคม 2524 การบอกเลิกการเช่านาของโจทก์ในปี พ.ศ. 2524 จึงคำนวณได้ไม่ถึงหนึ่งปีก่อนสิ้นระยะการเช่าของจำเลยการบอกเลิกสัญญาเช่าของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 37 การเช่านาระหว่างโจทก์จำเลยจึงยังไม่สิ้นสุดลงตามข้อวินิจฉัยของ คชก.จังหวัด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่นาโฉนดเลขที่ ๖๗๖๒ และ ๖๕๕๑ตำบลสำนักขุนเณร จังหวัดพิจิตร ร่วมกับนายสนั่น โดยซื้อจากจำเลยที่ ๑เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ และได้ให้จำเลยทั้งสองเช่าทำกันจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๔ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ นั้น โจทก์ได้บอกเลิกการเช่านาให้จำเลยทั้งสองทราบเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ เพราะโจทก์ประสงค์จะเข้าทำประโยชน์ในการทำนาปี พ.ศ. ๒๕๒๕ครั้นต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๕ จำเลยได้ร้องคัดค้านต่อคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คชก.) ตำบลสำนักขุนเณร ว่าประสงค์จะทำนาต่อไปคชก. ตำบลสำนักขุนเณรได้พิจารณาวินิจฉัยให้ฝ่ายโจทก์เข้าทำนาเองในทันทีโจทก์จึงได้เข้าไปยึดถือครอบครอง ขึ้นหัวคันนาไถดะ ตกกล้า และอีกไม่กี่วันจะเริ่มปักดำ จำเลยทั้งสองและบริวารเข้าไปตกกล้าในนาโจทก์ เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องขัดขวางในการทำนาของโจทก์ในฤดูการทำนาปี พ.ศ. ๒๕๒๕ และตลอดไป
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองเช่านาพิพาทของโจทก์เริ่มตั้งแต่ฤดูการทำนาปี พ.ศ. ๒๕๑๘ มาจนกระทั่งในฤดูทำนาปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ที่โจทก์อ้างว่าในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ โจทก์ได้บอกเลิกการเช่านา หากเป็นความจริงก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔มาตรา ๓๗, ๒๖ เพราะไม่ได้บอกเลิกการเช่านาล่วงหน้าก่อนครบกำหนดการเช่าไม่น้อยกว่า ๑ ปี จำเลยเพิ่งทราบการบอกเลิกการเช่านาเป็นหนังสือเมื่อวันที่๔ มกราคม ๒๕๒๕ การที่ คชก. ตำบลสำนักขุนเณรวินิจฉัยให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำนาในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้จำเลยทั้งสองก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคชก.จังหวัดพิจิตร ซึ่ง คชก. จังหวัดพิจิตรได้พิจารณาวินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองมีสิทธิเช่านาโจทก์ได้ จนถึงฤดูการทำนาปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ถึง ๒๕๒๙ และโจทก์ทราบคำสั่งนั้นแล้ว โจทก์ไม่เคยขึ้นหัวคันนาไถดะหรือตกกล้าแต่อย่างใดเลย
ก่อนสืบพยานคู่ความแถลงรับกันว่า คชก.ตำบลสำนักขุนเณร (จังหวัดพิจิตร)มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๒๕ วินิจฉัยว่า โจทก์บอกเลิกการเช่านาแปลงพิพาทโดยชอบและให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิเข้าไปทำนาแปลงพิพาทได้คชก.จังหวัดพิจิตร มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๒๕ วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิเช่านาแปลงพิพาทต่อไปเพราะการบอกเลิกการเช่านาของโจทก์เป็นไปโดยไม่ชอบ รับกันว่าโจทก์ให้จำเลยเช่านาแปลงพิพาท เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๘และการทำนาเริ่มในเดือนพฤษภาคมของแต่ละปี
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดพิจิตร และการบอกเลิกการเช่านาของโจทก์ไม่ชอบด้วยมาตรา ๓๗ พิพากษายกฟ้องให้จำเลยทั้งสองมีสิทธิเช่านาของโจทก์ต่อไปอีก ๖ ปี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์หาใช่เป็นการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดพิจิตร ไม่ คดียังมีประเด็นว่าโจทก์ได้เริ่มลงมือทำนาตามคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลแล้วหรือไม่ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยตามประเด็นดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.๒๕๒๔ มาตรา ๕๖ บัญญัติเรื่องการอุทธรณ์คำสั่งของ คชก. ตำบล ต่อคชก. จังหวัด และถ้า คชก.จังหวัดมีคำวินิจฉัยกลับคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลแล้ว มาตรา ๕๖ วรรคท้าย บัญญัติว่า “การที่ คชก. จังหวัดมีคำวินิจฉัยกลับคำวินิจฉัยของ คชก. ตำบลนั้น ไม่เป็นเหตุที่จะนำมาฟ้องร้องกันได้ และให้ฝ่ายที่ลงมือทำนาไปตามคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบล นั้น ได้ทำนานั้นต่อไปจนกว่าจะเสร็จการเก็บเกี่ยว ฯลฯ” อันมีความหมายว่า การที่ คชก.จังหวัดมีมติกลับคำวินิจฉัยของ คชก. ตำบล ประการใดแล้ว ไม่เป็นเหตุที่คู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่านาจะฟ้อง คชก. ตำบลหรือ คชก. จังหวัดเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดดังกล่าว แต่มาตรา ๕๗ ยังเปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดต่อศาลได้อีกดังที่บัญญัติไว้ว่า “คู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่านา ที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัด มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้ทราบคำวินิจฉัยของคชก.จังหวัด ฯลฯ” บทบัญญัติของมาตรา ๕๗ มีข้อความชัดเจนดังกล่าวและบัญญัติอยู่ในหมวด ๒ ส่วนที่ ๔ เรื่องอุทธรณ์และการบังคับคดีแสดงว่ากฎหมายบทนี้ประสงค์จะให้ศาลได้พิจารณาคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดต่อไปอีก ยังมิให้ยุติเป็นที่สุดเพราะได้กลับคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบล ฉะนั้นศาลฎีกาจึงเห็นว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นเรื่องการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดพิจิตรในเรื่องการเช่านาตามที่กฎหมายให้สิทธิไว้
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานแล้วพิพากษาใหม่ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์มีสิทธิเข้าทำนาพิพาทที่ให้จำเลยทั้งสองเช่าอยู่เดิม โดยโจทก์ได้แจ้งบอกเลิกการเช่านาให้จำเลยทั้งสองทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. ๒๕๒๔ แล้วหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนพิเคราะห์แล้วในปัญหาดังกล่าว พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. ๒๕๒๔ มาตรา ๓๗ บัญญัติว่า “เมื่อสิ้นระยะเวลาการเช่าตาม มาตรา ๒๖การเช่านาไม่สิ้นสุดลงเว้นแต่ผู้ให้เช่านาประสงค์จะใช้นาที่ให้เช่าเพื่อการดังต่อไปนี้และได้บอกเลิกการเช่านาเป็นหนังสือให้ผู้เช่านาทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ฯลฯ” อันมีความหมายว่าการบอกเลิกการเช่านาจะมีผลก็ต่อเมื่อผู้ให้เช่านาได้บอกเลิกเป็นหนังสือ และต้องให้ผู้เช่านาทราบล่วงหน้าก่อนสิ้นระยะเวลาการเช่าตาม มาตรา ๒๖ (หกปี) เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี ข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ ผู้ให้เช่านาได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์บอกเลิกการเช่านาให้จำเลยทั้งสองทราบเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ระยะเวลาบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงมีผลครบกำหนดระยะเวลาหนึ่งปี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ แต่คู่ความแถลงรับกันว่า โจทก์ให้จำเลยเช่านาพิพาทนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๘การทำนาเริ่มทำในเดือนพฤษภาคม ดังนั้นระยะเวลาเช่านาพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยจึงสิ้นระยะเวลาครบ ๖ ปี ตามมาตรา ๒๖ ลงในเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๔ การบอกเลิกสัญญาการเช่านาของโจทก์ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ปีเดียวกันนั้นจึงคำนวณได้ไม่ถึงหนึ่งปีก่อนสิ้นระยะการเช่าของจำเลยทั้งสองการบอกเลิกสัญญาเช่าของโจทก์ จึงไม่ชอบด้วยมาตรา ๓๗ การเช่านาพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองจึงยังไม่สิ้นสุดลง ดังข้อวินิจฉัยของคชก.จังหวัดพิจิตร
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น