คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2562/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำร้องของผู้ร้องบรรยายความเป็นมาของเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าโจทก์จำเลยในคดีนี้ได้สมคบกันทำการฉ้อโกงผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ โดยไม่ได้กล่าวอ้างว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีฝ่าฝืนหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งอันศาลจะงดการบังคับคดีไว้ตามมาตรา 296 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทั้งปรากฏตามคำร้องว่าผู้ร้องได้ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกต่อศาลแพ่ง คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ก็แสดงว่าผู้ร้องยังไม่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอันจะถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 280 ศาลชอบที่จะยกคำร้องเสียได้โดยไม่จำเป็นต้องทำการไต่สวนต่อไป เพราะถึงจะไต่สวนได้คามตามคำร้อง ศาลก็จะงดการบังคับคดีไว้ตาม มาตรา 296 ไม่ได้อยู่แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวนที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๑๙ ขอให้จำเลยชำระเงินยืมและดอกเบี้ยรวม ๒,๐๖๖,๒๕๐ บาท และโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๑๙ มีความว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์เป็นงวด ๆ ละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมแล้ว ต่อมาวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๒๐ โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ศาลออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๒๐ โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงิน ๑,๕๓๕,๕๑๕ บาท ของจำเลยที่ ๑ จากธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบุคคโล ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้ส่งเงินมายังกรมบังคับคดีแล้ว ธนาคารกสิกรไทย จำกัด ยื่นคำร้องว่า โจทก์และจำเลยได้สมคบกันฉ้อโกงผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ กล่าวคือเมื่อระหว่างวันที่ ๑๕ – ๑๙ เมษายน ๒๕๑๙ จำเลยที่ ๑ กับพวกสมคบกันปลอมแปลงหนังสือขึ้นฉบับหนึ่งมีข้อความว่า บริษัทสหการข้าวไทย จำกัด ขอเบิกสมุดเช็ค ๒ เล่มเพื่อนำไปใช้สั่งจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากเลขที่ ๘๕๐๐ ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีอยู่กับสาขาถนนเสือป่าของผู้ร้อง จำเลยที่ ๑ กับพวกได้สมุดเช็คไป ๒ เล่ม แล้วจำเลยที่ ๑ กับพวกได้ร่วมกันกรอกข้อความลงชื่อและประทับตราปลอมลงในแบบฟอร์มเช็คที่ได้รับไปสั่งจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝาก เลขที่ ๘๕๐๐ ดังกล่าวข้างต้นรวม ๓๓ ฉบับ เป็นเงิน ๓,๗๗๐,๐๐๐ บาท สาขาถนนเสือป่าของผู้ร้องหลงเชื่อจึงจ่ายเงินไปตามเช็คทั้ง ๓๓ ฉบับ จากบัญชีเงินฝากเลขที่ ๘๕๐๐ ซึ่งบริษัทสหการข้างไทย จำกัด มีอยู่ต่อสาขาถนนเสือป่าของผู้ร้อง โดยความจริงบริษัทสหการข้าวไทย จำกัด มิได้ออกเช็คสั่งให้จ่ายเงินดังกล่าวเลย ผู้ร้องได้ร้องทุกข์ ได้มีการจับกุมจำเลยที่ ๑ กับพวกมาสอบสวนและพนักงานอัยการได้ฟ้องต่อศาลแล้วในข้อหาทำปลอมเอกสารให้เอกสารตั๋วเงินปลอม ฯ ตามคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๙๐๙/๒๕๑๙ ของศาลอาญา คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๑๙ ผู้ร้องได้ฟ้องจำเลยที่ ๑ กับพวกต่อศาลแพ่งเรื่องละเมิดให้ใช้เงินต้นและดอกเบี้ยตามคดีหมายเลขดำที่ ๗๘๒๓/๒๕๑๙ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ในการนี้ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอายัดเงินฝากของจำเลยที่ ๑ กับพวกที่ได้ไปจากผู้ร้องและฝากไว้ตามธนาคารต่าง ๆ ซึ่งศาลได้อายัดไว้แล้ว วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๑๙ จำเลยที่ ๑ กับพวกร้องขอให้ศาลสั่งถอนการอายัด ศาลไต่สวนแล้วมีคำสั่งในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๑๙ ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ ๑ วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๑๙ นางจรูญมารดาจำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ต่อจำนวนเงินที่ศาลสั่งอายัดไว้ วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๑๙ เด็กชายสมมาตรบุตรจำเลยที่ ๑ ได้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์อีก ศาลแพ่งไต่สวนแล้วพิพากษาให้ยกคำร้องทั้งสองฉบับเมื่อหมดหนทางจะได้เงินจำเลยที่ ๑ นางจรูญจำเลยที่ ๒ และโจทก์จึงได้สมคบกันทำสัญญากู้ขึ้นโดยทุจริตและฟ้องต่อศาล เป็นเหตุให้ศาลหลงเชื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้ เป็นการกู้ที่ไม่มีหลักประกัน เมื่อฟ้องก็รีบทำยอม และโจทก์จะได้รับเงินในวันที่ ๕ เดือนนี้ พฤติการณ์ของโจทก์จำเลยเป็นการสมคบกันฉ้อโกงผู้ร้องซึ่งจะได้ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความต่อไป ฉะนั้น ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีจึงมีความจำเป็นต้องขอให้ศาลสั่งงดการบังคับคดีนี้โดยระงับการจ่ายเงินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๖ เพื่อผู้ร้องจะได้ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญายอมดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องไม่ปรากฏว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา ๒๙๖ ดังที่อ้าง ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาได้พิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๖ แล้ว วินิจฉัยว่า คำร้องของผู้ร้องดังกล่าวข้างต้นหาได้กล่าวอ้างว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีฝ่าฝืนหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะ ๒ ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างใดไม่ เพียงแต่บรรยายความเป็นมาของเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าโจทก์จำเลยในคดีนี้ได้สมคบกันทำการฉ้อโกงผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้เท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีฝ่าฝืนหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวอันศาลจะงดการบังคับคดีไว้ตามมาตรา ๒๙๖ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ร้องได้ฟ้องจำเลยที่ ๑ กับพวกต่อศาลแพ่งคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ก็แสดงว่าผู้ร้องยังไม่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอันจะถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๐ เมื่อกรณีเป็นดังนี้ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะยกคำร้องของผู้ร้องเสียได้โดยไม่จำเป็นต้องทำการไต่สวนต่อไป เพราะถึงจะไต่สวนได้ความตามคำร้อง ศาลก็จะงดการบังคับคดีไว้ตามมาตรา ๒๙๖ ที่ผู้ร้องอ้างไม่ได้อยู่แล้ว
พิพากษายืน.

Share