แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์สั่งสินค้าอุปกรณ์ท่อน้ำเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักร ราคาสินค้าดังกล่าวที่เสนอขายเป็นราคามาตรฐานสากล แต่ผู้ขายหักส่วนลดให้โจทก์ 58% ราคาที่หักส่วนลดแล้วเป็นราคาตลาด ดังนี้ ต้องถือราคาที่หักส่วนลดแล้วเป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ. ที่จะคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร เพราะรายรับตามประมวลรัษฎากร มาตรา 79 (6) หมายความว่ามูลค่าของสินค้าในวันนำเข้าในราชอาณาจักร ซึ่งมาตรา 77 แห่งประมวลรัษฎากรที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นให้ความหมายคำว่า มูลค่าว่า ราคาตลาดของทรัพย์สิน ทั้งโจทก์ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตผ่านธนาคารและชำระเงินไปตามตั๋วแลกเงินในจำนวนราคาที่หักส่วนลดแล้ว ราคาสินค้าที่หักส่วนลดนี้จึงเป็นราคาที่แท้จริง เป็นราคาตลาดและราคา ซี.ไอ.เอฟ. ที่ถูกต้องเชื่อถือได้ จำเลยไม่มีอำนาจที่จะอาศัยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 4) ประเมินราคา ซี.ไอ.เอฟ. ใหม่ โดยถือเอาราคาสินค้าก่อนหักส่วนลดเป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ.มาเป็นหลักในการประเมินภาษีการค้าของโจทก์อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าโดยสั่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๐๘ โจทก์สั่งซื้อสินค้าอุปกรณ์ท่อน้ำขนาดต่าง ๆ จำนวน ๒๙๗ หีบจากประเทศญี่ปุ่นในราคา ซี.ไอ.เอฟ.กรุงเทพฯ ซึ่งหมายความว่าเป็นราคาสินค้าที่รวมค่าประกันภัยและค่าขนส่งทางเรือจนถึงท่าเรือกรุงเทพฯ ไว้ด้วย คิดเป็นเงินไทย ๑๑๐,๕๔๓.๐๖ บาท และได้นำรายรับจากการนำสินค้าเข้าดังกล่าวไปยื่นชำระภาษีการค้าโดยบวกอากรขาเข้า ๕,๘๕๘.๑๖ บาท ค่าขนถ่ายสินค้า ๗๘๘.๘๐ บาท และกำไรมาตรฐาน ๑๑,๗๑๘.๙๖ บาท รวมเป็นรายรับที่จะคำนวณเสียภาษีการค้าทั้งสิ้น ๑๒๘,๙๐๘.๕๘ บาท ชำระภาษีการค้า ๕% ของยอดรายรับเป็นเงิน ๖,๔๔๕๘.๔๓ บาท และภาษีบำรุงเทศบาล ๑๐% ของยอดภาษีการค้าเป็นเงิน ๖๔๔.๕๔ บาท รวมเป็นภาษีที่โจทก์ชำระไปแล้วเป็นเงิน ๗,๐๘๙.๙๗ บาท ต่อมาเจ้าพนักงานการประเมินของจำเลยที่ ๑ ได้ส่งแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้า (ภ.ค.(พ.) ๘) ที่ กค.๐๘๐๕/ก.๘๐๑๐ แจ้งว่า โจทก์ยื่นรายการเพื่อเสียภาษีการค้าจากรายรับขาดไป ๑๖๗,๙๒๐.๒๖ บาท ยอดรายรับที่ถูกต้องคือ ๒๙๖,๘๒๘.๘๔ บาท จึงประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าเพิ่ม เงินเพิ่ม เบี้ยปรับ และภาษีบำรุงเทศบาล รวมเป็นค่าภาษีที่ให้โจทก์ชำระอีก ๒๐,๖๘๗.๗๖ บาท อันเป็นการประเมินที่ไม่ชอบ เพราะประเมินรายรับจากราคาสินค้าที่สำแดงในใบขนสินค้าเข้า ซึ่งเป็นราคาเบื้องต้นก่อนหักส่วนลด และมิใช่ราคา ซี.ไอ.เอฟ. อันจะนำไปคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีการค้าราคาที่สำแดงในใบขนสินค้าไม่เกี่ยวข้องกับการเสียอากรขาเข้า และเป็นเพียงวิธีการทางด้านศุลกากรในการนำสินค้าออกจากท่าเรือ ราคาสินค้าที่นำไปคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีการค้า จะต้องเป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ.ของสินค้าที่ซื้อขายจริงและหักส่วนลดออกแล้ว โจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งจำเลยที่ ๒,๓ และ ๔ เป็นกรรมการ และสั่งยกอุทธรณ์ของโจทก์อ้างว่าการประเมินถูกต้องและชอบแล้ว ขอให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้า (ภ.ค.(พ.) ๘) ที่ กค.๐๘๐๕/ก.๘๐๑๐ ของจำเลยที่ ๑ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.๗) เลขที่ ๑๙/๒๕๑๕ ของจำเลยที่ ๒,๓ และ ๔
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ยื่นชำระภาษีการค้าจากรายรับ ๑๒๘,๙๐๘.๕๘ บาท โดยหักส่วนลด ๕๘% แล้ว เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ ๑ ประเมินเก็บภาษีจากหลักฐานตามใบอินวอยซ์ซึ่งเจ้าหน้าที่ของโจทก์แจ้งราคาสินค้าก่อนหักส่วนลดแสดงไว้ในใบขนคิดเป็นเงินไทย ๒๖๓,๑๙๗.๙๖ บาท ซึ่งขาดไป ๑๖๗,๙๒๐.๒๖ บาท เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจทำได้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ ๔) ลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๐๔ โดยให้ถือราคา ซี.ไอ.เอฟ.บวกอากรขาเข้า ค่าขนถ่ายและกำไรมาตรฐานเป็นเกณฑ์คำนวณภาษีการค้า หากราคา ซี.ไอ.เอฟ.ที่ผู้นำเข้าแสดงมาไม่เชื่อถือ เจ้าพนักงานมีอำนาจประเมินราคา ซี.ไอ.เอฟ.ใหม่ โดยเทียบเคียงกับราคาตลาดที่อาจเทียบเคียงได้ หรือราคาตลาดโลก ทั้งราคาตามที่แสดงในใบขนกรณีนี้เป็นราคาตามมาตรฐานโลก แม้ต่อมาจะปรากฏว่าสินค้ารายนี้ได้รับส่วนลดจากราคาตลาดลงอีก ๕๘% ก็ไม่ควรถือราคาที่หักส่วนลดแล้วเป็นราคาตลาดเพื่อเสียภาษี เจ้าพนักงานประเมินและจำเลยที่ ๒,๓ และ ๔ ปฏิบัติชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้า (ภ.ค.(พ.) ๘) ที่ กค.๐๘๐๕/ก.๘๐๑๐ ของจำเลยที่ ๑ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ก.ส.๗) เลขที่ ๑๗/๒๕๑๕ ของจำเลยที่ ๒,๓ และ ๔
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่า โจทก์แสดงรายรับในการเสียภาษีการค้าตามราคา ซี.ไอ.เอฟ.คิดเป็นเงินไทย ๑๑๐,๕๔๓.๐๖ บาท ซึ่งหักส่วนลด ๕๘% แล้ว บวกด้วยอากรขาเข้า ค่าขนถ่ายสินค้าและกำไรมาตรฐานรวมเป็นรายรับที่จะไปประเมินภาษีการค้าเป็นเงิน ๑๒๘,๙๐๘.๕๘ บาท เป็นค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่โจทก์ได้ชำระไป ๗,๐๘๙.๙๗ บาท ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินภาษีของจำเลยที่ ๑ ประเมินภาษีการค้าของโจทก์ไม่ โดยถือราคาสินค้าก่อนหักส่วนลด ๕๘% เป็นเงิน ๒๙๖,๘๒๘.๘๔ บาท โจทก์แสดงรายรับสินค้าขาดไป ๑๖๗,๙๒๐.๒๖ บาท โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งต่อจำเลยที่ ๒,๓ และ ๔ ซึ่งเป็นกรรมการพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ คณะกรรมการยกอุทธรณ์ของโจทก์ ราคาสินค้าของโจทก์ก่อนหักส่วนลด ๕๘% เป็นราคามาตรฐานสากล ราคาซื้อขายจริงคือราคาที่คิดหักส่วนลดแล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะตลาดในการซื้อขาย
ในปัญหาที่ว่าจะถือราคาก่อนหักส่วนลดหรือหักส่วนลดแล้วเป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ.ที่จะคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ได้ความว่า ราคาสินค้าที่เสนอขายก่อนหักส่วนลดเป็นราคามาตรฐานสากล ส่วนราคาที่หักส่วนลดแล้วเป็นราคาตลาดนั้น ตรงกับความหมายของคำว่ารายรับตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๙ (๖) หมายความว่ามูลค่าของสินค้าในวันนำเข้าในราชอาณาจักร ซึ่งมาตรา ๗๗ แห่งประมวลรัษฎากรที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นให้ความหมายคำว่ามูลค่าว่าราคาตลาดของทรัพย์สิน และโจทก์นำสืบได้ว่าโจทก์ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตผ่านธนาคาร และได้ชำระราคาไปตามตั๋วแลกเงินในจำนวนราคาที่หักส่วนลดแล้ว เป็นหลักฐานที่ฟังได้ว่าเป็นราคาที่แท้จริง และเป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ. ฝ่ายจำเลยได้ยึดถือราคาสินค้าก่อนหักส่วนลดในใบอินวอยซ์และจำนวนราคาในใบขนสินค้าขาเข้าเป็นราคาตลาดโลกว่าเป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ. โดยมีความเห็นว่า ราคาสินค้าของโจทก์เมื่อหักส่วนลดแล้วเป็นราคาที่ต่ำกว่าความจริงอันไม่พึงเชื่อถือนั้น โจทก์นำสืบได้ว่าราคาสินค้าเมื่อหักส่วนลดแล้วเป็นราคาที่แท้จริงที่โจทก์ได้ชำระราคาไปและเป็นราคาตลาด ส่วนใบขนสินค้าขาเข้าเป็นเอกสารที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์เป็นผู้กรอกราคาสินค้าก่อนหักส่วนลด เพื่อความสะดวกในการขนสินค้าและคิดอากรขาเข้าตามน้ำหนักของสินค้าเท่านั้น ฎีกาของจำเลยกล่าวแต่เพียงว่า การลดราคาสินค้าในกรณีของโจทก์น่าจะเป็นเพียงตัวเลขมากกว่าจะมีการลดราคากันจริงจังนั้น เป็นเพียงการคาดคะเนของจำเลยเท่านั้น เมื่อราคาสินค้าที่หักส่วนลดเป็นราคาที่แท้จริง เป็นราคาตลาดและเป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ. ที่ถูกต้องเชื่อถือได้ จำเลยก็ไม่มีอำนาจที่จะอาศัยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ ๔) ประเมินราคา ซี.ไอ.เอฟ.ใหม่ โดยถือเอาราคาสินค้าก่อนหักส่วนลดเป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ.มาเป็นหลักในการประเมินภาษีการค้าของโจทก์ได้อีก และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒,๓ และ ๔ ที่ยกอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีการค้าของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษายืน.