คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3086/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อกรรมการของจำเลยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2543 และสำนักงานของจำเลยถูกปิด ลูกจ้างของจำเลยรวมทั้งโจทก์ไม่สามารถเข้าไปทำงานในสำนักงานได้ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2543 เป็นต้นมา ทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้นับตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2543 เมื่อโจทก์ไม่ได้รับค่าจ้างจากจำเลยด้วยเหตุดังกล่าวจึงถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 118วรรคสอง ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2543 มิใช่วันที่ 5 กรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นวันที่ถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างดังที่โจทก์อ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๐๐,๐๐๐ บาท ค่าใช้จ่าย ๖๐๐,๐๐๐ บาท ค่านายหน้า ๒๗๐,๐๐๐ บาท เงินโบนัส ๑๐๐,๐๐๐ บาท ค่าจ้าง ๑๑๖,๖๖๗ บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๓๓,๓๓๓ บาท และค่าชดเชย ๓๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์
จำเลยขาดนัด
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การที่กรรมการจำเลยถูกตำรวจจับกุม เจ้าของสถานที่ตั้งสำนักงานจำเลยตัดน้ำ ตัดไฟ และปิดสำนักงานในวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๓ ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้ รับค่าจ้าง เพราะเหตุที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป ถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๓ โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยครบ ๑๒๐ วัน แต่ไม่ครบ ๑ ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้าง สุดท้าย ๓๐ วัน สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๓ ถึงวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๓ แต่โจทก์ ขอมาเพียงเท่ากับค่าจ้าง ๑ เดือน จึงให้เท่าที่ขอ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างวันที่ ๑ ถึง ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓ เงินโบนัส ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าใช้จ่ายและค่านายหน้า พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ๑๐๐,๐๐๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๐๐,๐๐๐ บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อแรกว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อใด เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ต่อมาวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๓ เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกรรมการของจำเลย ครั้นวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๓ เจ้าของตึกที่ตั้งสำนักงานจำเลยได้ตัดน้ำ ตัดไฟ และปิดสำนักงาน ทำให้ลูกจ้างของจำเลยรวมทั้งโจทก์ไม่สามารถเข้าไปทำงานในสำนักงานในวันนั้นได้ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างตั้งแต่วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๓ เนื่องจากเจ้าของตึก ที่ตั้งสำนักงานจำเลยได้มาตัดน้ำ ตัดไฟ และปิดสำนักงาน เมื่อกรรมการของจำเลยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๓ และสำนักงานของจำเลยถูกปิดลูกจ้างของจำเลยรวมทั้งโจทก์ไม่สามารถเข้าไปทำงานในสำนักงานได้ตั้งแต่วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๓ เป็นต้นมา ทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้นับตั้งแต่วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๓ เมื่อโจทก์ไม่ได้รับค่าจ้างจากจำเลยด้วยเหตุดังกล่าวจึงถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ วรรคสอง ตั้งแต่วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๓ ซึ่งเป็นวันที่จำเลยไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป มิใช่วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ซึ่งเป็นวันที่ถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างดังที่โจทก์อ้าง อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง ๗๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลแรงงานกลาง

Share