คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4644/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อได้กำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาได้ในกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดและเมื่อผู้ให้เช่าซื้อเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว ถ้าขายได้ราคาไม่พอชำระค่าเช่าซื้อที่ผู้เช่าซื้อยังคงต้องชำระตามสัญญา รวมถึงค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดหักด้วยค่าเช่าซื้อที่ผู้เช่าซื้อได้ชำระแล้ว ผู้เช่าซื้อตกลงจะชดใช้เงินจำนวนที่ขาดนั้นให้แก่เจ้าของ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อในลักษณะเป็นค่าขาดราคารถยนต์หาใช่เป็นการเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระแล้วมาหักจากค่าเช่าซื้อทั้งหมดตามสัญญา และไม่ใช่เป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์เรียกเอาค่าเช่า จึงไม่ตกอยู่ในอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (6) ทั้งไม่ใช่เป็นคดีที่ผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่าเกี่ยวกับสัญญาเช่าที่อยู่ในอายุความ 6 เดือน การฟ้องเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อไม่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อพร้อมกระบะไปจากโจทก์ในราคา 1,508,904.72 บาท ตกลงชำระงวดละ 41,914.02 บาท รวม 36 งวด ชำระงวดแรกวันที่ 24 กรกฎาคม 2538 งวดต่อไปทุกวันที่ 24 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 20 เป็นต้นมา โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่คืนรถยนต์ให้โจทก์ โจทก์ติดตามยึดรถยนต์คืนได้และนำออกประมูลขายได้เงินเพียง 363,636.37 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดราคา 348,901.97 บาท และค่าเช่าซื้อค้างชำระรวม 12 เดือน เป็นเงิน 502,968.24 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 851,869 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 4 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความและเป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 348,901.97 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายวินิจฉัยประการแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาสัญญาเช่าซื้อได้กำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาได้ในกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดและเมื่อผู้ให้เช่าซื้อเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว ถ้าขายได้ราคาไม่พอชำระค่าเช่าซื้อที่ผู้เช่าซื้อยังคงต้องชำระตามสัญญารวมถึงค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดหักด้วยค่าเช่าซื้อที่ผู้เช่าซื้อได้ชำระแล้ว ผู้เช่าซื้อตกลงจะชดใช้เงินจำนวนที่ขาดนั้นให้แก่เจ้าของ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้น ตามคำฟ้องที่โจทก์บรรยายว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเป็นค่าเช่าซื้อส่วนที่ขาดโดยโจทก์นำทรัพย์ที่เช่าซื้อออกประมูลขายโดยเปิดเผยได้ในราคา 363,636.38 บาท เมื่อนำราคาที่ขายรวมกับค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระมาแล้วจำนวน 796,366.38 บาท เป็นเงินที่โจทก์ได้รับชำระมาแล้วจำนวน 1,160,002.75 บาท หักกับราคาค่าเช่าซื้อทั้งหมดที่ต้องชำระตามสัญญา ยังคงมีค่าเช่าซื้อที่ขาดอยู่จำนวน 348,901.97 บาท ซึ่งเป็นการคิดคำนวณค่าเสียหายตามที่ตกลงไว้ในสัญญาเช่าซื้อ จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อในลักษณะเป็นค่าขาดราคารถยนต์ หาใช่เป็นการเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเนื่องจากไม่ได้นำค่าเช่าซื้อที่ชำระแล้วมาหักจากค่าเช่าซื้อทั้งหมดตามสัญญา และไม่ใช่เป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์เรียกเอาค่าเช่าจึงไม่ตกอยู่ในอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (6) ทั้งไม่ใช่เป็นคดีที่ผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่าเกี่ยวกับสัญญาเช่าที่อยู่ในอายุความ 6 เดือน แต่การฟ้องเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อไม่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คดีนี้โจทก์ได้รับรถยนต์คืนวันที่ 20 มีนาคม 2541 และฟ้องคดีเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2543 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์เสียหายเป็นค่าขาดราคาหรือไม่เพียงใด ในข้อนี้ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่าค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดราคาตามฟ้อง เป็นค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อหลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว จึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับมีผลใช้บังคับระหว่างคู่สัญญาได้ มิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์จะให้สัญญาเช่าซื้อที่ระงับแล้วให้กลับมีผลใช้บังคับต่อไปอีก ส่วนที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่าเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระไป 19 งวด คุ้มกับการลงทุนของโจทก์ ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดจึงสูงเกินไปค่าเสียหายอย่างมากไม่เกิน 10,000 บาท นั้น เห็นว่า ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 1,508,904.72 บาท มิใช่เป็นราคารถยนต์ที่แท้จริงหากแต่เป็นราคารถรวมกับจำนวนดอกเบี้ยที่โจทก์คำนวณล่วงหน้าไว้แล้ว และยังได้ความว่าจำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2538 โจทก์ได้รับมอบรถคืนหลังสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2541 ปรากฏว่าสภาพรถโดยทั่วไปยังสามารถติดเครื่องยนต์ได้ขับส่งได้ไม่ปรากฏความเสียหายเสื่อมสภาพทรุดโทรมมาก คงมีความเสียหายภายนอกฝากระโปรงหน้าไม่มี ยากแตก 2 เส้นเท่านั้น ตามสภาพรถที่ใช้มาเพียง 3 ปี ที่โจทก์ขายไปในราคา 363,636.37 บาท ถือว่าเป็นราคาที่ต่ำ ทั้งรถย่อมเสื่อมสภาพไปเนื่องจากการใช้ตามปกติ เมื่อคำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์ทั้งหมดประกอบค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระไปแล้วเป็นเงิน 796,366.38 บาท ซึ่งรวมกับราคาที่ขายได้อีก 363,636.37 บาท เป็นเงินจำนวน 1,160,002.75 บาท และพิจารณาถึงราคารถยนต์ที่แท้จริงและค่าเสื่อมราคาจากการใช้รถแล้ว เห็นว่าค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดมานั้นสูงเกินไป ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคาเป็นเงิน 248,901 บาท ฎีกาจำเลยที่ 4 ฟังขึ้นบางส่วน และเนื่องจากเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะถึงที่สุดแล้วก็ให้คำพิพากษามีผลถึงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 248,901 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share