คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1497/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ ข้อ 138 ที่โจทก์อ้างเป็นเหตุผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาระบุว่า หากจำนวนเงินค่าปรับจะเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้าง ให้ส่วนราชการพิจารณาดำเนินการบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง เว้นแต่คู่สัญญาจะได้ยินยอมเสียค่าปรับให้แก่ทางราชการโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ให้หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาได้เท่าที่จำเป็น ร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างเป็นเงิน 370,000 บาท สัญญากำหนดค่าปรับตามสัญญาไว้วันละ 3,700 บาท จึงเท่ากับค่าปรับจำนวน 100 วัน เท่านั้น ที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ผ่อนปรนให้ถึง 190 วัน เพราะจำเลยที่ 1 เคยยินยอมให้ปรับได้มาก่อนแล้ว ทั้งที่จำเลยที่ 1 ทิ้งงานไปเนิ่นนานแล้วมิใช่จำเลยที่ 1 กำลังดำเนินการก่อสร้างแต่ไม่อาจแล้วเสร็จได้ทันตามสัญญา จึงไม่มีเหตุให้โจทก์ต้องผ่อนปรนให้ถึง 190 วัน การที่โจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาเสียภายในเวลาอันสมควร แต่ปล่อยปละละเลยไว้จนค่าปรับมีจำนวนสูงเกินสมควรเช่นนี้ ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควร เพราะโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยการละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหายนั้นด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 223

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 322,851.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 292,300 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างสถานีอนามัยขนาดใหญ่เป็นเงิน 3,700,000 บาท กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 25 พฤษภาคม 2540 โดยแบ่งงวดงานและการชำระเงินเป็น 5 งวด หากไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามกำหนด จำเลยที่ 1 ยอมให้ปรับวันละ 3,700 บาท และได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสุขุมวิท ชลบุรี 2 มาวางเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาในวงเงิน 185,000 บาท หลังจากทำสัญญาจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการก่อสร้างและส่งมอบงานงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 3 แล้ว ไม่สามารถส่งมอบงานงวดที่ 4 และงวดที่ 5 แก่โจทก์ตามสัญญา โจทก์มีหนังสือแจ้งปรับให้จำเลยที่ 1 ทราบ จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงโจทก์ยอมให้โจทก์ปรับตามสัญญาและส่งมอบงานงวดที่ 4 ล่วงเลยกำหนดตามสัญญาไป 61 วัน ในช่วงเวลาดังกล่าวคณะรัฐมนตรีมีมติให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา โจทก์จึงขยายระยะเวลาตามสัญญาก่อสร้างออกไปอีก 130 วัน นับถัดจากวันที่ 25 พฤษภาคม 2540 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 2 ตุลาคม 2540 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบงานที่เหลือแก่โจทก์ตามสัญญา โจทก์มีหนังสือแจ้งปรับให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว ต่อมาวันที่ 10 เมษายน 2541 โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างก่อสร้างสถานีอนามัยขนาดใหญ่แก่จำเลยที่ 1 แล้วโจทก์จ้างบุคคลภายนอกก่อสร้างงานงวดที่ 5 จนแล้วเสร็จภายในวงเงินที่เหลือ โจทก์คิดค่าปรับจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 190 วัน เป็นเงิน 703,000 บาท หักเงินค่าปรับงวดที่ 4 จำนวน 225,700 บาท และเงินประกันจำนวน 185,000 บาท ที่โจทก์ได้รับแล้วออกคงเหลือเงินค่าปรับจำนวน 292,300 บาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์โดยโจทก์เห็นว่าโจทก์ปล่อยปละละเลยมานานถึง 190 วัน จึงบอกเลิกสัญญาถือได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยการละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหายนั้นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223 ชอบหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การที่โจทก์จะบอกเลิกสัญญาจ้างต้องเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ซึ่งวางหลักเกณฑ์ข้อ 138 ว่า “ในกรณีที่คู่สัญญาหรือข้อตกลงนั้น หากจำนวนเงินค่าปรับจะเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้าง ให้ส่วนราชการพิจารณาดำเนินการบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง เว้นแต่คู่สัญญาจะได้ยินยอมเสียค่าปรับให้แก่ทางราชการโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ให้หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาได้เท่าที่จำเป็น” โจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างไปถึงร้อยละแปดสิบแล้ว ก่อนหน้านี้จำเลยที่ 1 เคยยินยอมให้ปรับโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ โจทก์จึงผ่อนปรนให้ ทั้งหลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยยังอุทธรณ์คำบอกเลิกสัญญา แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยังประสงค์จะทำงานต่อ การบอกเลิกสัญญาโดยทันทีอาจทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นอีกเมื่อระยะเวลาล่วงเลยมานานเกินควร โจทก์จึงต้องบอกเลิกสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาในระยะเวลาพอสมควรมิได้ล่าช้าหรือละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งค่าเสียหายไม่ใช่พิจารณาในเชิงทรัพย์สินแต่เพียงอย่างเดียว ต้องคำนวณต่อประโยชน์ส่วนรวมด้วย ความเสียหายที่ประชาชนไม่ได้รับการบริการจากภาครัฐเพราะการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ควรกำหนดเป็นความเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย เห็นว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 138 ที่โจทก์ยกขึ้นอ้างระบุไว้ชัดเจนว่า ในกรณีที่คู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงได้และจะต้องมีการปรับตามสัญญาหรือข้อตกลงนั้น หากจำนวนเงินค่าปรับจะเกินร้อยละสิบของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้าง ให้ส่วนราชการพิจารณาดำเนินการบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง เว้นแต่คู่สัญญาจะได้ยินยอมเสียค่าปรับให้แก่ทางราชการโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ให้หัวหน้าส่วนราชการพิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาได้เท่าที่จำเป็น สัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4 กำหนดค่าจ้างตามสัญญาไว้เป็นเงิน 3,700,000 บาท ร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้างจึงเป็นเงิน 370,000 บาท สัญญาจ้างกำหนดค่าปรับตามสัญญาวันละ 3,700 บาท ร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้างตามระเบียบดังกล่าวจึงเท่ากับค่าปรับจำนวน 100 วันเท่านั้น ที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ผ่อนปรนให้ถึง 190 วัน เพราะจำเลยที่ 1 เคยยินยอมให้ปรับได้มาก่อนแล้วนั้น ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.11 และบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.12 ที่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรีมีไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ขออนุมัติบอกเลิกสัญญาจ้างก็ระบุไว้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ไม่เข้าดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 จนถึงวันที่ 23 มีนาคม 2541 รวมระยะเวลา 143 วัน ซึ่งมีลักษณะเป็นการละทิ้งงานไปเนิ่นนานแล้ว มิใช่จำเลยที่ 1 กำลังดำเนินการก่อสร้างแต่ไม่อาจแล้วเสร็จได้ทันตามสัญญา จึงไม่มีเหตุให้โจทก์ต้องผ่อนปรนให้ถึง 190 วัน แม้หลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ยังอุทธรณ์คำบอกเลิกสัญญาดังกล่าวก็หาทำให้การบอกเลิกสัญญาหลังจากครบกำหนดสัญญานานถึง 190 วัน จะเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 138 ดังที่โจทก์ยกขึ้นอ้าง การที่โจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาเสียภายในเวลาอันสมควรแต่ปล่อยปละละเลยไว้จนค่าปรับมีจำนวนสูงเกินสมควรเช่นนี้ ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การกำหนดค่าเสียหายควรพิจารณาถึงความเสียหายที่ประชาชนไม่ได้รับการบริการจากภาครัฐเพราะการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จด้วยนั้น เห็นว่า ความเสียหายในส่วนนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโจทก์ปล่อยปละละเลยไม่บอกเลิกสัญญาเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้ว่าจ้างผู้อื่นให้ทำงานต่อจนแล้วเสร็จโดยเร็ว การที่ประชาชนได้รับการบริการจากภาครัฐล่าช้าไปถึง 190 วันจะถือเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 แต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ได้หักเงินค่าปรับไว้จำนวน 225,700 บาท กับเงินประกันของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสุขุมวิท ชลบุรี 2 จำนวน 185,000 บาท รวมเป็นเงิน 410,700 บาท และการที่โจทก์ว่าจ้างผู้รับจ้างรายใหม่ก็ไม่เกินวงเงินค่าจ้างของจำเลยที่ 1 ถือว่าโจทก์ได้รับค่าเสียหายพอสมควรแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชำระค่าปรับส่วนที่เหลือตามที่โจทก์ฟ้องมาอีกนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share