แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำฟ้องเป็นเพียงการบรรยายสรุปถึงความเกี่ยวพันกันระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งห้าเพื่อให้เห็นว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำการใดให้โจทก์ต้องได้รับความเสียหาย รวมทั้งคำขอบังคับที่จะให้จำเลยทั้งห้ารับผิดต่อโจทก์อย่างไรพอให้เข้าใจกันได้เท่านั้น คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายให้เห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงพิพาททั้งสี่ซึ่งซื้อมาจากจำเลยที่ 3 จำเลยทั้งห้าร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์เพลงพิพาท โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 นำเพลงพิพาทไปทำดนตรีขึ้นใหม่แล้วให้นักร้องร้องบันทึกลงในแถบเสียงออกจำหน่ายทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยทั้งห้าต้องรับผิดต่อโจทก์ เป็นคำฟ้องที่แสดงให้เห็นแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาที่โจทก์อาศัยเป็นหลักในการกล่าวหาจำเลยทั้งห้าเพื่อที่จะขอบังคับให้จำเลยทั้งห้าต้องรับผิดต่อโจทก์ให้เป็นที่เข้าใจได้ ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ทั้งคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายให้เห็นว่า จำเลยทั้งห้าแต่ละคนต่างคนต่างทำละเมิดต่อโจทก์ และคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็มิได้ขอบังคับเอากับจำเลยทั้งห้าแต่ละคนให้รับผิดในส่วนของแต่ละคนที่จะเป็นฟ้องเคลือบคลุมไปได้ สัญญาซื้อขายเพลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกระบุไว้ในข้อ 2 ว่า “ผู้จัดการมรดกตกลงโอนขายและ ป. ตกลงซื้อลิขสิทธิ์เพลงตามข้อ 1การโอนขายนี้เป็นการโอนลิขสิทธิ์ทั้งหมด และเสร็จเด็ดขาดตลอดอายุแห่งลิขสิทธิ์”ย่อมเป็นการแสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 3 ได้ขายลิขสิทธิ์เพลงซึ่งรวมเพลงพิพาททั้งสี่นับแต่วันซื้อขายเป็นต้นไปจนกว่าจะสิ้นสุดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้แก่โจทก์โดยชอบแล้ว โจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงพิพาททั้งสี่แต่เพียงผู้เดียวมิใช่เป็นเพียงผู้รับโอนสิทธิในเพลงพิพาททั้งสี่ไปจัดหาประโยชน์แต่อย่างใด ก่อนที่จำเลยที่ 3 จะขายลิขสิทธิ์เพลงพิพาททั้งสี่ให้แก่โจทก์ในวันที่ 16 กรกฎาคม2535 จำเลยที่ 3 ย่อมมีสิทธิที่จะมอบลิขสิทธิ์เพลงพิพาททั้งสี่ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 5 นำไปบันทึกเทปเผยแพร่หาประโยชน์ได้โดยชอบตามหนังสือสัญญาลิขสิทธิ์เพลงที่จำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 นำเพลงพิพาททั้งสี่ไปบันทึกเผยแพร่หาประโยชน์ แต่หลังจากที่จำเลยที่ 3 ขายลิขสิทธิ์เพลงพิพาททั้งสี่ให้โจทก์ไปแล้ว จำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิที่จะมอบลิขสิทธิ์เพลงพิพาททั้งสี่ให้จำเลยที่ 5 ไปบันทึกแถบเสียงเผยแพร่หาประโยชน์ได้เลย การที่จำเลยที่ 3 ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 ทำหนังสืออนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงพิพาทสามเพลงในสี่เพลงดังกล่าวให้จำเลยที่ 5 นำไปบันทึกแถบเสียงเผยแพร่หาประโยชน์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2538 จึงเป็นการกระทำหลังจากวันที่โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงพิพาททั้งสี่แล้ว จำเลยที่ 3 ย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะมอบลิขสิทธิ์เพลงพิพาทสามเพลงดังกล่าวอนุญาตให้จำเลยที่ 5 นำไปบันทึกแถบเสียงเผยแพร่หาประโยชน์ และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 จึงไม่มีสิทธิที่จะนำเพลงพิพาททั้งสี่ไปบันทึกแถบเสียงออกเผยแพร่หาประโยชน์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงทั้งสี่ได้ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์เพลงพิพาททั้งสี่ของโจทก์ แม้จำเลยที่ 4 จะเป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 3 โดยได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1ให้มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เพลงของเจ้ามรดกก็ตามแต่จำเลยที่ 4 ก็เป็นบุตรของจำเลยที่ 3 กับเจ้ามรดก จำเลยที่ 4 ก็รู้เห็นสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงระหว่างจำเลยที่ 3 กับโจทก์ แต่จำเลยที่ 4 ก็ยังอนุญาตให้จำเลยที่ 5 นำเพลงพิพาททั้งสี่ไปบันทึกแถบเสียงออกเผยแพร่หาประโยชน์อีกถือได้ว่าจำเลยที่ 4 ร่วมทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในเนื้อร้องและทำนองเพลงสี่เพลงซึ่งโจทก์ซื้อลิขสิทธิ์มาจากจำเลยที่ 3 ผู้จัดการมรดกของนายสุชาติ เทียนทองตามคำสั่งศาล ต่อมาจำเลยทั้งห้าร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์บทเพลงทั้งสี่ของโจทก์ โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 อนุญาตหรือยินยอมให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 นำเนื้อร้องและทำนองเพลงทั้งสี่ของโจทก์ไปทำซ้ำหรือดัดแปลงด้วยการบันทึกเสียงลงในแถบบันทึกเสียงหรือเทปเพลงแล้วนำออกขายหรือจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และห้ามจำเลยทั้งห้าทำซ้ำเพื่อจำหน่ายซึ่งบทเพลงอันเป็นผลงานสร้างสรรค์ของนายสุชาติ เทียนทองต่อไป
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากจำเลยที่ 3 ในการนำเพลงทั้งสี่ไปเผยแพร่ จัดจำหน่ายและหาผลประโยชน์โดยไม่จำกัดจำนวนและเวลาก่อนที่โจทก์จะได้รับโอนลิขสิทธิ์ การกระทำของจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 5 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยแต่ละคนต่างทำละเมิดต่อโจทก์ในต่างฐานะ แต่กลับขอให้ชดใช้ค่าเสียหายร่วมกันโดยมูลเหตุแห่งละเมิดตามฟ้องมิใช่หนี้ร่วมที่โจทก์จะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดได้โจทก์มิได้แยกความรับผิดของจำเลยทั้งห้าในแต่ละฐานะว่าต้องรับผิดเพียงใดฟ้องของโจทก์จึงเคลือบคลุม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ความเสียหายของโจทก์ไม่ควรเกิน 200,000 บาท โจทก์ชอบที่จะเรียกร้องจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นคู่สัญญา โจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราซึ่งเรียกได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2534 จำเลยที่ 3 และที่ 4 อนุญาตให้จำเลยที่ 1 แสวงสิทธิจากเพลงทั้งสี่โดยนำออกเผยแพร่หาผลประโยชน์โดยไม่จำกัดจำนวนและเวลาก่อนที่จะทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ซึ่งโจทก์ทราบดี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและมิใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ สัญญาซื้อขายเป็นเพียงการโอนลิขสิทธิ์ให้โจทก์ไปจัดหาผลประโยชน์หาใช่โอนความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาเกินความเสียหายจริง หากจะเสียหายก็ไม่ควรเกิน 10,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้เงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีแก่โจทก์ให้จำเลยทั้งห้าหยุดการกระทำละเมิดโดยการทำซ้ำและจำหน่ายเพลงพิพาท4 เพลง ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า เพลงพิพาททั้งสี่ได้แก่เพลงรักอาอย่าเกลียดคนเมา เพลงเหล้าจ๋า เพลงเพราะคุณคนเดียว และเพลงฮักกันบ่ได้เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งได้สร้างสรรค์โดยนายสุชาติ เทียนทอง หรือประเทือง เทียนสุวรรณซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2528 หลังจากนายสุชาติถึงแก่ความตายแล้วเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2528 จำเลยที่ 3 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุชาติตามคำสั่งศาลคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 22292/2528 ของศาลแพ่ง ต่อมาวันที่ 16 กรกฎาคม 2535 จำเลยที่ 3 ทำสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงต่าง ๆ อันเป็นมรดกของนายสุชาติจำนวน 484 เพลง ซึ่งมีเพลงพิพาททั้งสี่รวมอยู่ด้วยให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2537 จำเลยที่ 3 ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เพลงมรดกของนายสุชาติแทนได้ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2538 จำเลยที่ 4 ทำสัญญาให้จำเลยที่ 5 นำเพลงรักอาอย่าเกลียดคนเมาเพลงเหล้าจ๋า และเพลงเพราะคุณคนเดียว ออกเผยแพร่หาประโยชน์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ร่วมกันนำเพลงพิพาททั้งสี่ออกเผยแพร่หาประโยชน์โดยให้นักร้องชื่อมยุรา ฟ้าสีทอง เป็นผู้ร้อง บันทึกเสียงลงในเทปเพลงออกจำหน่าย ตามวัตถุพยานหมาย วจ.1
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องเป็นเพียงการบรรยายสรุปถึงความเกี่ยวพันกันระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งห้า เพื่อให้เห็นว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำการใดให้โจทก์ต้องได้รับความเสียหาย รวมทั้งคำขอบังคับที่จะให้จำเลยทั้งห้ารับผิดต่อโจทก์อย่างไรพอให้เข้าใจกันได้เท่านั้น ซึ่งคำฟ้องของโจทก์ก็ได้บรรยายให้เห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงพิพาททั้งสี่ซึ่งซื้อมาจากจำเลยที่ 3 จำเลยทั้งห้าร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์เพลงพิพาทดังกล่าว โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 อนุญาตให้จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 5 นำเพลงพิพาททั้งสี่ไปทำดนตรีขึ้นใหม่แล้วให้นักร้องร้องบันทึกลงในแถบเสียงออกจำหน่ายทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยทั้งห้าต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาที่โจทก์อาศัยเป็นหลักในการกล่าวหาจำเลยทั้งห้าเพื่อที่จะขอให้บังคับให้จำเลยทั้งห้าต้องรับผิดต่อโจทก์ให้เป็นที่เข้าใจได้ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้วทั้งคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยทั้งห้าแต่ละคนต่างคนต่างทำละเมิดต่อโจทก์ และคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็มิได้ขอบังคับเอากับจำเลยทั้งห้าแต่ละคนให้รับผิดในส่วนของแต่ละคนที่จะให้เป็นฟ้องเคลือบคลุมตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 959/2525 ระหว่างนายเจ๊ะมิง เจ๊ะเว โจทก์ นายมาแน ลงเต๊ะกับพวกจำเลย ที่จำเลยทั้งห้าอ้างมาในอุทธรณ์แต่อย่างใดที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมนั้นชอบแล้วอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าอีกว่า สิทธิที่โจทก์ได้รับโอนมานั้นเป็นเพียงสิทธิในการจัดหาประโยชน์ในเพลงพิพาททั้งสี่หรือได้รับโอนความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาททั้งสี่ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เห็นว่าตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งเป็นภาพถ่ายสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุชาติ มีระบุไว้ในข้อ 2 ว่า “ผู้จัดการมรดกตกลงโอนขายและนายปรีชา อัศวฤกษ์นันท์ ตกลงซื้อลิขสิทธิ์เพลงตามข้อ 1การโอนขายนี้เป็นการโอนลิขสิทธิ์ทั้งหมด และเสร็จเด็ดขาดตลอดอายุแห่งลิขสิทธิ์”ย่อมเป็นการแสดงโดยชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 3 ได้ขายลิขสิทธิ์เพลงจำนวน 484 เพลงรวมทั้งเพลงพิพาททั้งสี่ซึ่งเป็นมรดกของนายสุชาติ นับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะสิ้นสุดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้แก่โจทก์โดยชอบแล้ว ดังนั้นนับแต่วันที่ตกลงซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงพิพาททั้งสี่เป็นต้นไป โจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงพิพาททั้งสี่แต่เพียงผู้เดียว มิใช่ว่าโจทก์เป็นเพียงผู้รับโอนสิทธิในเพลงพิพาททั้งสี่ไปเพื่อจัดหาประโยชน์ดังเช่นที่จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์แต่อย่างใดส่วนที่จำเลยทั้งห้าสงสัยความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์ว่าเหตุใดต้องมีการโอนลิขสิทธิ์กันระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัดเสกสรรเทปแผ่นเสียง ตามเอกสารหมาย จ.13 กันอีกนั้น เห็นว่า เอกสารหมาย จ.13 ไม่เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.6 แต่เป็นการกล่าวถึงหนังสือให้คำยืนยันของจำเลยที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.12 รับรู้เกี่ยวกับมีลิขสิทธิ์เพลงแนบท้ายเอกสารหมาย จ.12 และที่ปรากฏในแถบเสียงหรือแผ่นเสียงที่ผลิตโดยห้างหุ้นส่วนจำกัดเสกสรรเทปแผ่นเสียง จัดทำออกเผยแพร่ ที่นายสุชาติขายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเสกสรรเทปแผ่นเสียงไปตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2522ว่าได้ทำกันไว้จริง แล้วห้างหุ้นส่วนจำกัดเสกสรรเทปแผ่นเสียง ซึ่งอยู่ในระหว่างชำระบัญชีได้โอนลิขสิทธิ์เพลงตามสัญญาลงวันที่ 23 สิงหาคม 2522 ระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดเสกสรรเทปแผ่นเสียงกับนายสุชาติให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นคนละส่วนกันกับการที่จำเลยที่ 3 ขายลิขสิทธิ์เพลงพิพาททั้งสี่ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม 2535ตามเอกสารหมาย จ.6 เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงพิพาททั้งสี่แล้วบุคคลใดจะนำเพลงพิพาททั้งสี่ไปทำซ้ำหรือดัดแปลง หรือนำออกเผยแพร่โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์มิได้ ส่วนที่จำเลยทั้งห้านำสืบว่า จำเลยที่ 3 ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 1 นำเพลงพิพาททั้งสี่ไปบันทึกเผยแพร่หาประโยชน์ได้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 จึงร่วมกันบันทึกเพลงพิพาททั้งสี่ออกเผยแพร่ สิทธิของโจทก์ที่ได้มาจึงไม่กระทบกระเทือนต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ที่แท้จริงได้อนุญาตไว้ก่อนแล้วนั้น เห็นว่า ก่อนที่จำเลยที่ 3 จะขายลิขสิทธิ์เพลงพิพาททั้งสี่ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2535 ตามเอกสารหมาย จ.6จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุชาติซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงพิพาททั้งสี่ย่อมมีสิทธิที่จะมอบลิขสิทธิ์เพลงพิพาททั้งสี่ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 นำไปบันทึกเทปเผยแพร่หาประโยชน์ได้โดยชอบตามหนังสือสัญญาลิขสิทธิ์เพลงที่จำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 นำเพลงพิพาททั้งสี่ไปบันทึกเผยแพร่หาประโยชน์รวม 3 ฉบับ ลงวันที่ 1,14, และ 20 พฤศจิกายน 2534 ตามเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.5 ดังเช่นที่จำเลยทั้งห้านำสืบมา แต่หลังจากที่จำเลยที่ 3 ขายลิขสิทธิ์เพลงพิพาททั้งสี่ให้โจทก์เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2535 ไปแล้ว จำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิที่จะมอบลิขสิทธิ์เพลงพิพาททั้งสี่ให้จำเลยที่ 5 ไปบันทึกแถบเสียงเผยแพร่หาประโยชน์ได้เลย การที่จำเลยที่ 3 ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 ทำหนังสืออนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงพิพาทสามเพลงคือเพลงเหล้าจ๋า เพลงรักอาอย่าเกลียดคนเมา และเพลงเพราะคุณคนเดียว ให้จำเลยที่ 5 นำไปบันทึกแถบเสียงเผยแพร่หาประโยชน์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2538 ตามเอกสารหมาย จ.8 (10 แผ่น) จึงเป็นการกระทำหลังจากวันที่โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงพิพาททั้งสี่แล้ว จำเลยที่ 3 ย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะมอบลิขสิทธิ์เพลงพิพาทสามเพลงดังกล่าวอนุญาตให้จำเลยที่ 5 นำไปบันทึกแถบเสียงเผยแพร่หาประโยชน์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 จึงไม่มีสิทธิที่จะนำเพลงพิพาททั้งสี่ไปบันทึกแถบเสียงตามวัตถุพยาน วจ.1 ออกเผยแพร่หาประโยชน์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงทั้งสี่ได้ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์เพลงพิพาททั้งสี่ของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 4 นั้น แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 3 โดยได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1ตามหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2537 ให้มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เพลงของนายสุชาติก็ตาม แต่จำเลยที่ 4 เป็นบุตรของจำเลยที่ 3 กับนายสุชาติทั้งจากคำเบิกความของจำเลยที่ 4 ก็ได้ความว่าจำเลยที่ 4 ได้รู้เห็นสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงกันระหว่างจำเลยที่ 3 กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.6 แต่จำเลยที่ 4 ก็ยังอนุญาตให้จำเลยที่ 5 นำเพลงพิพาทคือ เพลงเหล้าจ๋า เพลงรักอาอย่าเกลียดคนเมาและเพลงเพราะคุณคนเดียว ไปบันทึกแถบเสียงออกเผยแพร่หาประโยชน์อีกเช่นนี้จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 4 ร่วมทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วย ตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย ข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยทั้งห้าละเมิดลิขสิทธิ์เพลงพิพาททั้งสี่ของโจทก์ ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์นั้นชอบแล้วอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน