แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 สมรู้กันเป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้เพื่อฟ้องคดีให้มีการยึดที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายออกขายทอดตลาดป้องกันมิให้โจทก์บังคับคดีให้จำเลยที่ 1 โอนขายให้ นับว่าเป็นการกระทำโดยจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นอกจากจำเลยที่ 1 จะผิดสัญญาต่อโจทก์แล้ว ยังถือว่าได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย
จำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ ความเสียหายที่โจทก์ได้รับมีจำนวนเดียวกัน จำเลยทั้งสองจึงเป็นลูกหนี้ร่วมที่จะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ โดยยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้แก่โจทก์จำนวน 9,500,000 บาท โจทก์ยอมรับและไม่ติดใจเรียกร้องหนี้ตามคำพิพากษาจากจำเลยที่ 2 อีก จำเลยที่ 2 ขอถอนอุทธรณ์เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์อนุญาต ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วจำนวน 9,500,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงหลุดพ้นจากหนี้จำนวนดังกล่าวด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 292 ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จึงต้องนำเอาราคาที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับหนี้ที่จำเลยที่ 2 ชำระให้แก่โจทก์แล้วมาหักออกจากราคาที่ดินที่ขายทอดตลาดได้ คงเหลือเป็นจำนวนค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์
ตามพฤติการณ์จำเลยที่ 1 คาดเห็นแล้วว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่โอนขายที่ดินให้โจทก์ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายคือไม่สามารถนำที่ดินที่จะซื้อไปขายได้ ค่าเสียหายของโจทก์ก็คือเงินกำไรจากการขายที่ดินดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 75,592,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดเป็นเงิน 30,959,731.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราเดียวกันจากต้นเงิน 28,799,750 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางเปรมวดี มีการยกเลิกสัญญากันแล้วเนื่องจากนางเปรมวดีผิดสัญญา การบังคับคดีและการขายทอดตลาดที่ดินทั้งห้าโฉนดกระทำโดยสุจริต จำเลยที่ 1 มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า การขายทอดตลาดที่ดินทั้งห้าโฉนด จำเลยที่ 2 ใช้สิทธิเข้าสู้ราคาโดยสุจริต คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงิน 30,959,731 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 28,799,750 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 150,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การกู้ยืมเงินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีจำนวนถึง 2,000,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 ก็มิได้เรียกหลักประกันใด ๆ จากจำเลยที่ 1 นับว่าเป็นเรื่องผิดปกติธรรมดาอย่างมาก การทำสัญญาประนีประนอมยอมความก็ทำกันหลังฟ้องเพียง 17 วัน โดยที่ยังไม่มีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย แสดงว่าคู่ความฟ้องคดีเพื่อจะยอมความ ประกอบกับตามสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยที่ 1 ต้องชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวนเพียง 2,450,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 ก็นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 1 ทั้งห้าแปลงซึ่งมีราคาเกินกว่าหนี้จำนวนมาก โดยจำเลยที่ 1 ไม่คัดค้าน ซึ่งเมื่อมีการขายทอดตลาด จำเลยที่ 2 ก็ประมูลซื้อในราคา 39,600,000 บาท พฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 สมรู้กันเป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้เพื่อฟ้องคดีให้มีการยึดที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินออกขายทอดตลาด ป้องกันมิให้โจทก์บังคับคดีให้จำเลยที่ 1 โอนขายให้นั่นเอง นับว่าเป็นการกระทำโดยจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นอกจากจำเลยที่ 1 จะผิดสัญญากับโจทก์แล้ว ยังถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย
จำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ ความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการกระทำของจำเลยทั้งสองมีจำนวนเดียวกัน จำเลยทั้งสองจึงเป็นลูกหนี้ร่วมที่จะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาและคดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้แก่โจทก์จำนวน 9,500,000 บาท โจทก์ยอมรับและไม่ติดใจเรียกร้องหนี้ตามคำพิพากษาจากจำเลยที่ 2 อีก จำเลยที่ 2 ขอถอนอุทธรณ์เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ถอนอุทธรณ์ได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกหนี้ร่วมกัน การที่จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วจำนวน 9,500,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงหลุดพ้นจากหนี้จำนวนดังกล่าวด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 292 ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จึงต้องนำเอาราคาที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจำนวน 11,800,250 บาท กับหนี้ที่จำเลยที่ 2 ชำระให้แก่โจทก์แล้วจำนวน 9,500,000 บาท มาหักออกจากราคาที่ดินที่ขายทอดตลาดได้ คงเหลือเป็นจำนวนค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 18,299,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 200,000 บาท.