แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 ซึ่งหมายถึงมาตรา 160 วรรคสามด้วยนั้น คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทอันเป็นความผิดตามมาตรา 43 (4) ซึ่งต้องลงโทษตามมาตรา 157 เท่านั้น โจทก์มิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 43 (1) (2) (5) หรือ (8) อันจะต้องลงโทษตามมาตรา 160 วรรคสามด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 160 วรรคสาม ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา ๒๙๑, ๓๐๐, ๓๙๐ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓, ๑๕๗, ๑๖๐
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ ๒ เป็นคดีใหม่ภายใน ๑๐ วัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๙๑, ๓๐๐, ๓๙๐ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (ที่ถูกมาตรา ๔๓ (๔)), ๑๕๗, ๑๖๐ การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา ๒๙๑ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ฝ่ายผู้เสียหายได้รับค่าเสียหายจนเป็นที่พอใจและไม่ติดใจเอาความ เห็นสมควรลงโทษสถานเบา จำคุก ๒ ปี จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑ ปี
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๑ ปี จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๖ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ ๑ นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๖๐ ซึ่งหมายถึงมาตรา ๑๖๐ วรรคสามด้วยนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถโดยประมาทอันเป็นความผิดตามมาตรา ๔๓ (๔) ซึ่งต้องลงโทษตามมาตรา ๑๕๗ เท่านั้น มิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๔๓ (๑) (๒) (๕) หรือ (๘) อันจะต้องลงโทษตามมาตรา ๑๖๐ วรรคสามด้วย จำเลยที่ ๑ จึงไม่มีความผิดตามมาตรา ๑๖๐ วรรคสาม ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มี คู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๖๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓.