คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8435/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายนำไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ จำเลยเป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาทในฐานะตัวแทนของผู้เสียหายและจำเลยมีหน้าที่ต้องนำเช็คพิพาทไปมอบให้แก่เจ้าหนี้ของผู้เสียหาย การที่จำเลยนำเช็คพิพาทไปเข้าบัญชีของจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงินและได้มีการเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทได้ ถือได้ว่าเป็นการเบียดบังเอาเช็คพิพาทของผู้เสียหายไปโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานยักยอกเช็คพิพาท มิใช่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และการที่จำเลยเอาเช็คพิพาทของผู้เสียหายไปเรียกเก็บเงินย่อมเป็นการทำให้เช็คพิพาทนั้นไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีก จึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 188 อีกบทหนึ่ง ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 188 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด
จำเลยยักยอกเช็คพิพาทของผู้เสียหายแล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค ผู้เสียหายย่อมจะต้องถูกธนาคารตามเช็คหักเงินจากบัญชีของผู้เสียหายไปตามจำนวนเงินที่สั่งจ่ายในเช็ค เท่ากับว่าผู้เสียหายต้องสูญเสียเงินจำนวนตามเช็คนั้นไปเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยโดยตรง พนักงานอัยการจึงมีสิทธิขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินตามเช็คแก่ผู้เสียหายได้ ตาม ป.วิ. อ. มาตรา 43
ตามคำร้องของผู้เสียหายที่ยื่นเข้ามาประกอบเพื่อขอให้ศาลอนุญาตปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ มิใช่เป็นการยอมความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐, ๙๑, ๑๘๘, ๓๓๕ และให้จำเลยคืนหรือ ใช้เงินจำนวน ๙๑,๖๒๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๘, ๓๓๕ (๑๑) วรรคแรก เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๑๑) วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำเลยกระทำผิด ๒ กระทง ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ จำคุกกระทงละ ๒ ปี รวมจำคุก ๔ ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ หนึ่งในสี่ คงจำคุก ๓ ปี ให้จำเลยคืนหรือ ใช้เงินจำนวน ๙๑,๖๒๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ วรรคแรก ให้จำคุกกระทงละ ๑ ปี ปรับกระทงละ ๔,๐๐๐ บาท รวมโทษจำคุก ๒ ปี และปรับ ๘,๐๐๐ บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ หนึ่งในสี่ คงจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน และปรับ ๖,๐๐๐ บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสแก่จำเลย โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก ๓ เดือน ต่อครั้ง มีกำหนด ๔ ครั้ง คำขอและข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้เสียหายได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ จำนวนเงิน ๕๖,๕๕๐ บาท ตามเอกสารหมาย จ.๑ มอบให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย นำไปชำระหนี้ให้แก่สำนักงานบัญชีบุญเลี้ยง ต่อมาผู้เสียหายได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๓๘ จำนวนเงิน ๓๕,๐๗๐ บาท ตามเอกสารหมาย จ.๒ มอบให้จำเลยนำไปชำระหนี้ให้แก่ร้านค้า แห่งหนึ่ง ต่อมาจำเลยได้นำเช็คเอกสารหมาย จ.๑ เข้าบัญชีของจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงินที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และจำเลยนำเช็คเอกสารหมาย จ.๒ เข้าบัญชีของจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงินที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ เช็คทั้งสองฉบับเรียกเก็บเงินได้เรียบร้อยโดยเข้าบัญชีของจำเลยดังกล่าวรวมเป็นเงินตามเช็คทั้งสองฉบับ ๙๑,๖๒๐ บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้างหรือยักยอกทรัพย์ เห็นว่า เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คที่ผู้เสียหายออกเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โดยมอบให้จำเลยเป็น ผู้นำไปมอบให้แก่เจ้าหนี้ของผู้เสียหาย จำเลยจึงเป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาททั้งสองฉบับ ในฐานะตัวแทนของผู้เสียหาย จำเลยมีหน้าที่ต้องนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปมอบให้แก่เจ้าหนี้ของผู้เสียหาย เมื่อจำเลยนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับ เข้าบัญชีของจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงินและได้มีการเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทได้ พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการเบียดบังเอาเช็คพิพาทของผู้เสียหายไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอกเช็คพิพาททั้งสองฉบับ มิใช่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๘ หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาททั้งสองฉบับโดยผู้เสียหายเป็นผู้มอบการครอบครองให้จำเลย การที่จำเลยเอาเช็คพิพาททั้งสองฉบับของผู้เสียหายไปเรียกเก็บเงินย่อมเป็นการทำให้เช็คพิพาททั้งสองฉบับนั้นไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๘ อีกบทหนึ่งด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า จำเลยต้องใช้เงินจำนวน ๙๑,๖๒๐ บาท แก่ผู้เสียหายตามคำขอท้ายฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อฟังได้ว่าจำเลยยักยอกเช็คพิพาททั้งสองฉบับแล้วนำไปเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาท ทั้งสองฉบับได้รวมเป็นเงิน ๙๑,๖๒๐ บาท และยังไม่ได้คืนให้ผู้เสียหาย การที่จำเลยยักยอกเช็คพิพาททั้งสองฉบับของ ผู้เสียหายแล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค ผู้เสียหายย่อมจะต้องถูกธนาคารตามเช็คหักเงินจากบัญชีของผู้เสียหายไปตามจำนวนเงินที่สั่งจ่ายในเช็ค เท่ากับว่าผู้เสียหายต้องสูญเสียเงินจำนวนตามเช็คนั้นไปเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยโดยตรง พนักงานอัยการจึงมีสิทธิขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินตามเช็คจำนวน ๙๑,๖๒๐ บาทแก่ผู้เสียหายได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๓ จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวน ๙๑,๖๒๐ บาทแก่ผู้เสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่สั่งให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน ๙๑,๖๒๐ บาท แก่ผู้เสียหายนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกา ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้าย ตามคำแก้ฎีกาของจำเลยว่า ตามคำร้องของผู้เสียหายลงวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ผู้เสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยในคดียักยอกทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๒) หรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องของผู้เสียหายลงวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๒ เป็นการยื่นเข้ามาเพื่อประกอบการขอปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์และตามคำร้องดังกล่าวก็ขอให้ศาลอนุญาตปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์จึงมิใช่เป็นการยอมความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๒) ความผิดฐานยักยอกจึงหาระงับไปไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๘, ๓๕๒ วรรคแรก ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๘๘ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน ๙๑,๖๒๐ บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ .

Share