แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ขายได้รับค่าสินค้าที่ขนส่งและได้โอนใบตราส่งให้แก่บริษัท อ. ผู้ซื้อสินค้าซึ่งเป็นผู้รับตราส่งแล้ว บริษัท อ. จึงเป็นผู้ทรงใบตราส่งซึ่งมีสิทธิรับสินค้านั้นได้ และเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลแบบเปิดที่โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยในขณะที่เกิดวินาศภัยนั้นแล้ว แม้จะฟังว่าการซื้อขายสินค้าที่ขนส่งเป็นการซื้อขายระบบซีไอเอฟ ซึ่งผู้ขายเป็นผู้เอาประกันภัยก็เป็นการเอาประกันภัยของผู้ขายกับผู้รับประกันภัยอื่นซึ่งมิใช่โจทก์ผู้รับประกันภัยสินค้าที่ขนส่งทางทะเลแบบเปิด และเป็นผู้รับช่วงสิทธิตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวมาฟ้องเป็นคดีนี้ แม้ตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลแบบเปิดเลขที่ 10170 จะเป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่ทำกันระหว่างโจทก์กับบริษัท ช. ก็ตาม แต่ตามกรมธรรม์ฉบับนี้ได้ระบุรายละเอียดเงื่อนไขทั่วไปของกรมธรรม์ไว้ในข้อ 02.1 โดยได้กล่าวถึงผู้ถือกรมธรรม์ว่าคือบริษัท ช. และระบุว่าผู้เอาประกันภัยคือบริษัททุกบริษัทที่ผู้ถือกรมธรรม์ถือหุ้นอยู่กว่าร้อยละ 50 หรือบริษัทที่ผู้ถือกรมธรรม์มีความรับผิดชอบทางด้านจัดการตามภาคผนวก 1 อันแสดงว่านอกจากบริษัท ช. จะเป็นคู่สัญญาประกันภัยกับโจทก์ในฐานะเป็นผู้ถือกรมธรรม์แล้ว ยังมีบริษัทอื่นที่บริษัทดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในอัตราเกินกว่าร้อยละ 50 หรือมีบริษัทอื่นที่บริษัทนั้นเป็นผู้รับผิดชอบทางด้านจัดการเป็นคู่สัญญาประกันภัยกับโจทก์ในฐานะที่เป็นผู้เอาประกันภัยอีกด้วย ทั้งนี้ไม่มีกฎหมายบังคับว่าสัญญาประกันภัยทางทะเลต้องลงลายมือชื่อคู่สัญญาจึงจะผูกพันโจทก์ผู้รับประกันภัย
สาเหตุแห่งความเสียหายเป็นผลมาจากการยกหีบไม้โดยไม่เอาใจใส่และไม่ระมัดระวังในระหว่างการขนส่ง ความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งดังกล่าวจึงเป็นผลมาจากการที่จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งกระทำการโดยไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าความเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าเต็มจำนวน ไม่อาจอ้างเอาข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งจำนวนเพียง 10,000 บาทต่อ 1 หน่วยการขนส่ง ตามมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาเป็นประโยชน์แก่ตนได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน ๔,๐๘๕,๙๕๖.๔๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินจำนวน ๔,๐๘๕,๙๕๖.๔๔ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า หากจำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดต่อโจทก์ ก็รับผิดไม่เกินจำนวน ๔๐,๐๐๐ บาท ทั้งนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๕๘ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากสัญญาประกันภัยที่โจทก์ทำขึ้นไว้กับบริษัทคอมบิบล็อค เอเซีย จำกัด ไม่ปรากฏว่าโจทก์และบริษัทคอมบิบล็อค เอเซีย จำกัด ลงลายมือชื่อไว้ สัญญาประกันภัยจึงไม่ผูกพันโจทก์ตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๔,๐๘๕,๙๕๖.๔๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินจำนวน ๔,๐๘๕,๙๕๖.๔๔ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ ๑๒๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๒ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ซึ่งประกอบธุรกิจรับประกันภัยได้ทำสัญญารับประกันภัยสินค้าทางทะเลแบบเปิดเลขที่ ๑๐๑๗๐ กับบริษัทเอสไอจี ชไวเซอร์ริชเช่ อินดัสตรี เกเซลล์ชาฟต์ โฮลดิ้ง เอจี ผู้ถือกรมธรรม์ตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลแบบเปิด เอกสารหมาย จ. ๖ และโจทก์ได้ออกหลักฐานการรับประกันภัยสินค้านำเข้าทุกชนิดให้แก่บริษัทคอมบิบล็อค เอเซีย จำกัด ผู้เอาประกันภัย ซึ่งต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าของเรือหัวจินได้รับขนส่งสินค้าจากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมายังท่าเรือศรีราชา ประเทศไทย จำเลยที่ ๓ ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่งเพื่อส่งสินค้านั้นให้บริษัทคอมบิบล็อค เอเซีย จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสินค้า ต่อมาเรือหัวจินเดินทางมาถึงท่าเรือศรีราชา บริษัทแอพเพ็นชิป ๘๘ (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนเรือหัวจินในประเทศไทยได้แจ้งให้จำเลยที่ ๑ ทราบถึงกำหนดการที่เรือหัวจินจะเดินทางเข้ามาเทียบท่าเรือศรีราชา จำเลยที่ ๑ จึงได้นำเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินพิธีการทางศุลกากรเพื่อที่จะนำสินค้าออกจากท่าเรือศรีราชา ซึ่งขณะนั้นบริษัทแอพเพ็นชิป ๘๘ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ว่าจ้างบริษัทนพเก้า ๗๗ จำกัด ขนถ่ายสินค้าลงจากเรือหัวจินมาวางพักไว้ที่ลานพักสินค้าของท่าเรือศรีราชา ปรากฏว่ามีสินค้าบางส่วนเสียหาย หลังจากมีการสำรวจสินค้ากันเบื้องต้นแล้ว จำเลยที่ ๑ ได้ขนสินค้าทั้งหมดจากท่าเรือศรีราชาไปยังโรงงานของบริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด เมื่อมีการสำรวจความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งกันอีกครั้งหนึ่งแล้ว บริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด จึงเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ โจทก์ชำระค่าเสียหายให้บริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด เป็นเงินจำนวน ๔,๐๘๕,๙๕๖ บาท โจทก์จึงมาเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า บริษัทคอมบิบล็อค เอเซีย จำกัด เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้าที่ขนส่งในขณะที่สินค้านั้นเกิดความเสียหายหรือไม่ และสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับบริษัทคอมบิบล็อค เอเซีย จำกัด ไม่ผูกพันโจทก์เพราะไม่มีการลงลายมือชื่อคู่สัญญาหรือไม่ เห็นว่า ผู้ขายได้รับค่าสินค้าที่ขนส่งและได้โอนใบตราส่งให้แก่บริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด ผู้รับตราส่งแล้ว บริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด จึงเป็นผู้ทรงใบตราส่งซึ่งมีสิทธิรับสินค้านั้นได้ และเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลแบบเปิดที่โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยในขณะที่เกิดวินาศภัยนั้นแล้ว แม้จะฟังว่าการซื้อขายสินค้าที่ขนส่งเป็นการซื้อขายระบบซีไอเอฟ ซึ่งผู้ขายเป็นผู้เอาประกันภัยก็เป็นการเอาประกันภัยของผู้ขายกับผู้รับประกันภัยอื่น ซึ่งมิใช่โจทก์ผู้รับประกันภัยสินค้าที่ขนส่งทางทะเลแบบเปิดและเป็นผู้รับช่วงสิทธิตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวมาฟ้องเป็นคดีนี้ ดังนี้ ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าบริษัทคอมบิบล็อค เอเซีย จำกัด มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้าที่ขนส่งในขณะที่สินค้านั้นเกิดความเสียหายเป็นทำนองว่าบริษัทดังกล่าวมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในขณะเกิดวินาศภัยและโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทดังกล่าวตามสัญญาประกันภัยนั้น จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ว่าตามสัญญาประกันภัยนั้น โจทก์ทำกับบริษัทเอสไอจี ชไวเซอร์ริชเช่ อินดัสตรี เกเซลล์ชาฟต์ โฮลดิ้ง เอจี ไม่ได้ทำกับบริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด และทั้งสองบริษัทก็เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกันนั้น เห็นว่า แม้ตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลแบบเปิดเลขที่ ๑๐๑๗๐ เอกสารหมาย จ. ๖ จะเป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่ทำกันระหว่างโจทก์กับบริษัทเอสไอจี ชไวเซอร์ริชเช่ อินดัสตรี เกเซลล์ชาฟต์ โฮลดิ้ง เอจี ก็ตาม แต่ตามกรมธรรม์ฉบับนี้ได้ระบุรายละเอียดเงื่อนไขทั่วไปของกรมธรรม์ไว้ในข้อ ๐๒.๑ โดยได้กล่าวถึงผู้ถือกรมธรรม์ว่าคือ บริษัทเอสไอจี ชไวเซอร์ริชเช่ อินดัสตรี เกเซลล์ชาฟต์ โฮลดิ้ง เอจี และระบุว่าผู้เอาประกันภัยคือบริษัททุกบริษัทที่ผู้ถือกรมธรรม์ถือหุ้นอยู่กว่าร้อยละ ๕๐ หรือบริษัทที่ผู้ถือกรมธรรม์มีความรับผิดชอบทางด้านจัดการตามภาคผนวก ๑ อันแสดงว่านอกจากบริษัทเอสไอจี ชไวเซอร์ริชเช่ อินดัสตรี เกเซลล์ชาฟต์ โฮลดิ้ง เอจี จะเป็นคู่สัญญาประกันภัยกับโจทก์ในฐานะเป็นผู้ถือกรมธรรม์แล้ว ยังมีบริษัทอื่นที่บริษัทดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในอัตราเกินกว่าร้อยละ ๕๐ หรือมีบริษัทอื่นที่บริษัทนั้นเป็นผู้รับผิดชอบทางด้านจัดการเป็นคู่สัญญาประกันภัยกับโจทก์ในฐานะที่เป็นผู้เอาประกันภัยอีกด้วย ซึ่งตามใบรับรองการประกันภัยที่โจทก์ออกให้แก่บริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด ตามเอกสารหมาย จ. ๗ ก็เป็นไปตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลแบบเปิดเอกสารหมาย จ. ๖ ดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าบริษัทเอสไอจี ชไวเซอร์ริชเช่ อินดัสตรี เกเซลล์ชาฟต์ โฮลดิ้ง เอจี เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด มากกว่าร้อยละ ๕๐ จึงถือได้ว่าบริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด เป็นผู้เอาประกันภัยไว้แก่โจทก์ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลเปิดเอกสารหมาย จ. ๖ โจทก์ย่อมต้องผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว หาได้มีกฎหมายบังคับว่าสัญญาประกันภัยทางทะเลต้องลงลายมือชื่อคู่สัญญาจึงจะผูกพันโจทก์ผู้รับประกันภัยดังที่จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ไม่ เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่สินค้าที่เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด ผู้เอาประกันภัย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด แล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะรับช่วงสิทธิของบริษัทเอสไอจี คอมบิบล็อค จำกัด มาฟ้องเป็นคดีนี้ได้นั้น เป็นการชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ว่า ความเสียหายของสินค้ามีจำนวนเพียง ๒ หีบห่อ จำเลยที่ ๑ จึงรับผิดใช้ค่าเสียหายไม่เกินข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง ตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๕๘ เห็นว่า พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๕๘ อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๖๐ ที่บัญญัติว่า “การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา ๕๘ มิให้ใช้บังคับแก่กรณีดังต่อไปนี้ (๑) การสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากการที่ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งกระทำหรืองดเว้นการกระทำการโดยมีเจตนาที่จะให้เกิดการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า หรือโดยละเลยหรือไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้านั้นอาจเกิดขึ้นได้…” ซึ่งสาเหตุแห่งความเสียหายภายหลังตรวจสอบปรากฏว่าเป็นผลมาจากการไม่เอาใจใส่และไม่ระมัดระวังในระหว่างการขนส่ง ซึ่งในข้อนี้จำเลยที่ ๑ มิได้มีพยานหลักฐานใดมานำสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่จำเลยที่ ๑ ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งกระทำการโดยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าความเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ จำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าเต็มจำนวน ไม่อาจอ้างเอาข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งจำนวนเพียง ๑๐,๐๐๐ บาท ต่อ ๑ หน่วยการขนส่ง ตามมาตรา ๕๘ แห่ง พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ รับผิดชำระค่าเสียหายทั้งหมดให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าทนายความชั้นนี้แทนโจทก์ ๓๐,๐๐๐ บาท.