คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6094/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจที่โจทก์มอบอำนาจให้ ส.ทำสัญญาเช่าซื้อระบุว่า โจทก์โดยกรรมการผู้มีอำนาจสองคน ขอมอบอำนาจให้ ส.มีอำนาจทำการลงนามในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แทนโจทก์ และมีกรรมการผู้มีอำนาจสองคนตามที่ระบุชื่อไว้ข้างต้นลงลายมือชื่อท้ายหนังสือในฐานะผู้มอบอำนาจ แม้จะมิได้มีตราบริษัทโจทก์ซึ่งตามข้อบังคับที่จดทะเบียนไว้จะต้องประทับตราด้วยก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าตามสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์ฟ้องมีข้อความกล่าวชัดในตอนต้นว่า สัญญานี้ทำขึ้นระหว่างบริษัท ส.(โจทก์) ผู้ให้เช่าซื้อ กับ ร.(จำเลย) ผู้เช่าซื้อ และท้ายสัญญา ส.ก็ได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อและทั้งโจทก์และจำเลยก็ได้ปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อตลอดมา เช่นนี้ แสดงว่า ส.ทำสัญญาเช่าซื้อในนามของโจทก์ตามที่ได้รับมอบอำนาจข้างต้น ถือได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจเป็นหนังสือให้ ส.ทำสัญญาเช่าซื้อแทนและโจทก์เป็นคู่สัญญากับจำเลยสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวจึงใช้บังคับได้และโจทก์มีอำนาจฟ้อง
แม้จำเลยจะชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญาโจทก์ก็ผ่อนผันให้และรับชำระเรื่อยมาโดยมิได้ทักท้วง พฤติการณ์แสดงว่าโจทก์มิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญอีกต่อไป ดังนั้นการที่จำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 10 ตามกำหนดในสัญญาจึงจะถือว่าจำเลยผิดนัดทำให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีตามข้อกำหนดในสัญญาข้อ 8 หาได้ไม่ หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาก็ต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อตาม ป.พ.พ. มาตรา387 ก่อน แต่อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ไปยึดรถที่เช่าซื้อคืนมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม2534 และไม่ปรากฏว่าจำเลยโต้แย้งการยึดนั้น เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันแล้วตั้งแต่วันที่โจทก์ยึดรถคืน ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดเฉพาะค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ของโจทก์ระหว่างวันที่ 28พฤศจิกายน 2533 จนถึงวันที่ 5 มีนาคม 2534 ส่วนค่าเสียหายอื่นไม่มีเพราะมิได้เป็นการเลิกสัญญาต่อกันโดยเหตุที่จำเลยผิดสัญญา
กรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถเช่นนี้เนื่องจากการเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา193/30

Share