คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7210/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้ารูปกรงนกประกอบอักษรโรมันคำว่าMACYS ที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ และเครื่องหมายการค้ารูปนกบินประกอบอักษรโรมันคำว่า MACY’S ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียน ต่างออกเสียงว่า เมซี่ส์ เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 สาระสำคัญของการเรียกขานเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงอยู่ที่คำว่า MACYS หรือ MACY’S ฉะนั้นลูกค้าที่ซื้อสินค้าจะเรียกสินค้าของโจทก์ว่า เมซี่ส์ เหมือนกับสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1จึงอาจทำให้ประชาชนผู้ซื้อสินค้าสับสนหรือหลงผิดในแหล่งกำเนิดและคุณภาพของสินค้าได้ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าคำว่า MACY’Sและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ยังต่างประเทศก่อนโจทก์ สินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นที่แพร่หลายมาประมาณ 100 ปีแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า MACY’S ดีกว่าโจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะยังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทย และจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 ในประเทศไทยก็ตาม
แม้คำฟ้องของโจทก์จะขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ถอนคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปนกบินและคำว่า MACY’S ของโจทก์เท่านั้นแต่เมื่อโจทก์ได้กล่าวอ้างถึงเครื่องหมายการค้ารูปกรงนกและคำว่า MACYSที่ได้รับการจดทะเบียนมาในคำฟ้องด้วย จำเลยที่ 1 ก็ย่อมมีสิทธิที่จะให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า MACY’S ของจำเลยที่ 1ดีกว่าสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า MACYS ที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วและคำว่า MACY’S ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียน และจำเลยที่ 1 ย่อมอาศัยสิทธิที่ตนได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติมาตรา 41 (1) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474 ฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในเครื่องหมายการค้านั้น ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงเกี่ยวกับคำฟ้องเดิม จำเลยที่ 1 ชอบที่จะฟ้องแย้งมาในคำให้การได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 44 ห้ามมิให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนเสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนฝ่ายอื่น แต่บทบัญญัตินี้มิได้ห้ามคู่ความฝ่ายอื่นเสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนนายทะเบียน ฉะนั้น ศาลจึงสั่งให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสองได้
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความสำหรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4,000 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น เมื่อคดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ การกำหนดค่าทนายความดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเกินอัตราขั้นสูงในศาลชั้นต้นจำนวน 3,000 บาท ตามตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. ศาลฎีกากำหนดเสียใหม่ให้ถูกต้องได้

Share