แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จะให้จำเลยรับผิดฐานเป็นผู้ค้ำประกันลูกหนี้ได้ จะต้องปรากฏว่า จำเลยได้ทำหนังสือลงลายมือชื่อเพื่อจะชำระหนี้แทนลูกหนี้นั้นให้โจทก์จึงจะได้ เพียงแต่จำเลยได้มอบโฉนดที่ให้ลูกหนี้เอาไปค้ำประกันโจทก์หรือจำเลยฟ้องลูกหนี้ในอีกคดีหนึ่งได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยยอมค้ำประกันลูกหนี้ต่อโจทก์เท่านี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นสัญญาค้ำประกัน
การที่โจทก์บรรยายฟ้องตอนหนึ่งว่า ‘จำเลยต้องรับผิดทั้งในทางพฤตินัยและนิตินัย’ เพียงเท่านี้ย่อมไม่มีความหมายถึงข้อความในเอกสาร จ.7- จ.8 ถ้าโจทก์มุ่งจะให้หมายถึงเอกสาร จ.7- จ.8 ถ้าบรรยายเพียงเท่านี้ก็เป็นเคลือบคลุม
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2493 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์เป็นเงินไม่เกิน 50,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อปี คิดทบต้นเป็นรายเดือนจะชำระหนี้ให้เสร็จภายใน 6 เดือน จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันฝ่ายจำเลยที่ 3 ได้ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์ใบมอบฉันทะและมอบโฉนดที่ 1242 ตำบลพระโขนงฝั่งใต้ จังหวัดพระนครให้ไว้กับโจทก์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของโจทก์ไปนำจำนองค้ำประกัน และจำเลยที่ 3 ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามสำนวนคดีแดงที่ 1251/2494 ยอมรับว่าจำเลยที่ 3 ยอมเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ โดยมีสินจ้างตอบแทน จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นเงิน 77,883 บาท 78 สตางค์ จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 ให้การยอมรับผิด จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญายืมโฉนดของจำเลยเพื่อไปทำประกันกู้เงินธนาคารไทยพานิชย์ จะไถ่ถอนโฉนดคืนให้ในกำหนด 1 เดือน โดยยอมให้ค่าตอบแทน 5,000 บาท จำเลยที่ 2 ผิดสัญญา จำเลยได้ฟ้องเรียกโฉนดคืนจากจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนโฉนด จำเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ไม่เคยแสดงความจำนงต่อโจทก์เข้าค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไม่ได้มอบโฉนดให้โจทก์ จำเลยลงชื่อในใบมอบฉันทะโดยไม่เข้าใจอะไรเลยไม่ได้เจตนาให้อำนาจโจทก์ไปทำจำนอง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกัน เพราะจำเลยไม่เคยมีและทำหลักฐานค้ำประกันเป็นหนังสือให้ไว้กับโจทก์ ถ้าจำเลยจะต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันโจทก์ก็ได้ผ่อนเวลาให้จำเลยที่ 1 จำเลยจึงหลุดพ้นความรับผิดตามประมวลแพ่งฯ มาตรา 697-700 โจทก์ยังไม่มีสิทธิฟ้องเพราะไม่เคยทวงถามให้จำเลยชำระหนี้
ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีแล้วพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เหตุประการแรกเป็นเรื่องเอาโฉนดค้ำประกันหนี้ซึ่งจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำจำนองกัน เพียงแต่ลงชื่อในใบมอบฉันทะไว้เท่านั้นยังไม่สมบูรณ์แบบค้ำประกันตามกฎหมาย
สำหรับประเด็นข้อ 2 ที่โจทก์ฎีกาขึ้นมา (จำเลยที่ 3 ยอมค้ำประกันต่อโจทก์โดยมีสินจ้างตอบแทน) นั้น ตามประมวลแพ่งฯ มาตรา 680 ต้องได้ความว่า ผู้ค้ำประกันได้ทำหนังสือลงลายมือชื่อเพื่อชำระหนี้แทนลูกหนี้ การที่จำเลยที่ 3 ฟ้องจำเลยที่ 1 มีใจความว่า “จำเลยที่ 3 ได้มอบโฉนดให้จำเลยที่ 1 ไปทำนิติกรรมประกันเงินกู้ธนาคารมณฑล จำกัด (คือโจทก์ในคดีนี้) เป็นเงิน 50,000 บาท” นั้น เรียกไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ทำหนังสือลงลายมือชื่อเพื่อผูกพันตนให้ต้องรับผิดแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดเพราะเหตุนี้
ข้อที่ศาลชั้นต้นอ้างเอกสาร จ.7-จ.8 ว่าจำเลยรับสารภาพหนี้เพราะโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ในฟ้องหน้า 3 ว่า จำเลยต้องรับผิดทั้งในทางพฤตินัยและนิตินัยโดยชอบด้วยกฎหมายและโจทก์มีสิทธินำสืบถึงพฤติการณ์แวดล้อมได้ ไม่เป็นนอกฟ้องนอกประเด็นนั้นคำว่าจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในทางพฤตินัยก็คือ จำเลยที่ 3กล่าวในฟ้อง (คดีแดงที่ 1251/2494) จำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 3 ยอมเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 นั้น หาได้พาดพิงถึงเอกสาร จ.7-จ.8 ด้วยไม่ หากโจทก์มุ่งหมายถึงเอกสาร จ.7, จ.8 ด้วยก็เป็นข้อความเคลือบคลุม
จึงพิพากษายืน