แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เหตุเกิดเวลากลางคืนโดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ชกต่อยทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย และจำเลยที่ 1 เอาสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องจำนวน 1 องค์ ของผู้เสียหายไป แต่การที่จำเลยทั้งสามสอบถามผู้เสียหายครั้งแรกที่ป้ายรถโดยสารประจำทางก็โดยมีเจตนาต้องการทราบว่าผู้เสียหายเป็นนักเรียนโรงเรียน ล.หรือไม่ หากว่าเป็นนักเรียนโรงเรียนดังกล่าว จำเลยทั้งสามจะได้แก้แค้น เมื่อผู้เสียหายบอกว่าไม่ใช่ จำเลยทั้งสามไม่เชื่อ ต่อมาเมื่อผู้เสียหายลงจากรถโดยสารประจำทางจึงถูกจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันทำร้ายร่างกาย การที่จำเลยที่ 1 เอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปขณะทำร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ทราบ และไม่มีเจตนาที่จะร่วมกันชิงทรัพย์หรือลักทรัพย์และจำเลยทั้งสามไม่มีเจตนาที่จะกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์มาแต่แรก คงมีเจตนาทำร้ายร่างกายเท่านั้น ดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนตาม ป.อ.มาตรา 339 วรรคสอง จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 391
คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาคดีรวมกัน โดยโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันปล้นทรัพย์ซึ่งรวมถึงการชิงทรัพย์และทำร้ายร่างกายด้วย เฉพาะจำเลยที่ 3 ผู้เดียวฎีกาศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในการกระทำความผิดดังกล่าวตามที่ทางพิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคสุดท้าย ประกอบด้วยมาตรา 215, 225 ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1และที่ 3 แม้จะได้ร่วมซักถามผู้เสียหาย แต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ทั้งไม่ปรากฏว่าได้หลบหนีไปกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 แสดงว่าไม่ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 เมื่อเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วยแม้มิได้ฎีกา ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 213ประกอบด้วยมาตรา 225