คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3083/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นหญิงมีสามีมิได้ยื่นหนังสือยินยอมของสามีให้ฟ้องคดีมาพร้อมกับฟ้องในศาลชั้นต้น แต่ได้ส่งหนังสือยินยอมดังกล่าวมาพร้อมฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะประเด็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ จำเลยแก้ฎีกาว่าหนังสือให้ความยินยอมดังกล่าวจะถูกต้องหรือไม่จำเลยไม่รับรอง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงควรให้ศาลชั้นต้นไต่สวนว่าหนังสือยินยอมของสามีโจทก์ที่ให้ฟ้องคดีถูกต้องหรือไม่ หากถูกต้องก็ถือว่าโจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถในการฟ้องคดีบริบูรณ์แล้ว ถ้าไม่ถูกต้องให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องนั้นเสียให้บริบูรณ์ภายในกำหนดเวลาอันสมควรที่ศาลชั้นต้นจะสั่ง แล้วดำเนินการต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับอนุญาตจากสามีให้ฟ้องคดีแล้ว จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารประจำทางหมายเลขทะเบียน ก.ท.จ – 2601 ของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างด้วยความประมาทโดยขับด้วยความเร็วสูงพุ่งเข้าชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.ท.อ – 6423 ของโจทก์ที่จอดอยู่อย่างแรงจนได้รับความเสียหาย ซึ่งจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 118,125 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 112,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การรวมความได้ว่า โจทก์จะได้รับความยินยอมจากสามีให้ฟ้องคดีหรือไม่ จำเลยที่ 1 ไม่ทราบและไม่รับรอง โจทก์ไม่ใช่เจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.ท.อ – 6423 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างและขณะเกิดเหตุไม่ได้กระทำในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 มิได้ขับรถโดยประมาท ฯลฯ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า รถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.ท.อ – 6423ที่ถูกชนเสียหายเป็นของโจทก์ ซึ่งเป็นหญิงมีสามี โจทก์มิได้นำสืบว่าเป็นสินส่วนตัวถือว่าเป็นสินสมรส โจทก์และสามีต้องจัดการร่วมกัน การฟ้องเรียกค่าเสียหายรถยนต์ที่ถูกชนซึ่งเป็นสินสมรส เป็นการจัดการสินสมรส ต้องฟ้องร่วมกันหรือได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามี โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากสามีเป็นหนังสือ จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น และว่าโจทก์นำสืบรับว่า โจทก์ฟ้องคดีไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามี และไม่แก้ไขข้อบกพร่องเรื่องความสามารถโดยเสนอความยินยอมของสามีให้ฟ้องคดีเป็นหนังสือต่อศาล อุทธรณ์โจทก์ยืนยันว่า โจทก์ไม่จำเป็นต้องรับความยินยอมจากสามี จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถนั้นให้บริบูรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 วรรคสองต้องพิพากษายกฟ้อง พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา พร้อมกับส่งหนังสือยินยอมของสามีให้โจทก์ฟ้องคดีนี้

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า รถยนต์พิพาทเป็นสินสมรส ไม่ใช่สินส่วนตัวของโจทก์ ดังนั้น การฟ้องคดีซึ่งเป็นคดีที่เกี่ยวกับสินสมรส โจทก์จึงต้องฟ้องร่วมกับสามี หรือได้รับความยินยอมจากสามีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1476, 1477หากทำไปโดยลำพังฝ่ายเดียวก็ถือว่ามีการบกพร่องในเรื่องความสามารถ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 กรณีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าได้รับความยินยอมจากสามีให้ฟ้องคดีแล้ว แต่ปรากฏจากการพิจารณาในศาลชั้นต้นก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า ความยินยอมดังกล่าวไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ซึ่งขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 56 วรรคแรก ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถเสียให้บริบูรณ์ตามมาตรา 52 วรรคสองก่อน แต่ศาลชั้นต้นไม่ปฏิบัติกลับดำเนินคดีต่อไปจนเสร็จสำนวน แล้วพิพากษายกฟ้องโดยอ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ว่าโจทก์อุทธรณ์ยืนยันว่าโจทก์ไม่จำเป็นต้องรับความยินยอมจากสามี จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถให้บริบูรณ์ตามมาตรา 56 วรรคสอง ต้องพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย เพราะศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถเสียให้บริบูรณ์ก่อน ถ้าศาลชั้นต้นสั่งแล้วโจทก์ไม่ยอมแก้ไขและยืนยันเช่นนั้น รูปคดีก็มีเหตุสมควรที่จะยกฟ้องดังที่ศาลอุทธรณ์อ้างได้ กรณีนี้ในชั้นฎีกา โจทก์ซึ่งเป็นหญิงมีสามีได้ส่งหนังสือยินยอมของสามีให้โจทก์ฟ้องคดีมาพร้อมฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะประเด็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ จำเลยแก้ฎีกาว่าหนังสือให้ความยินยอมดังกล่าวจะถูกต้องหรือไม่ จำเลยไม่รับรอง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นไต่สวนว่าหนังสือยินยอมของสามีโจทก์ให้ฟ้องคดีถูกต้องหรือไม่ หากถูกต้องก็ถือว่าโจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถในการฟ้องคดีบริบูรณ์แล้ว ถ้าไม่ถูกต้องให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องนั้นเสียให้บริบูรณ์ภายในกำหนดเวลาอันสมควรที่ศาลชั้นต้นจะสั่ง แล้วดำเนินการต่อไป

พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นจัดการในเรื่องความสามารถในการฟ้องคดีของโจทก์ตามที่กล่าวมา แล้วพิพากษาคดีใหม่

Share