คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3611/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ ส.กับ ป.พยานโจทก์จะมีพฤติการณ์เป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน กับจำเลย แต่เมื่อโจทก์ได้กัน ส.กับ ป.ไว้เป็นพยาน คำเบิกความของพยานทั้งสองปากดังกล่าวอาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ แต่มีน้ำหนักน้อย มิใช่ว่าจะรับฟังไม่ได้เสียเลยทีเดียว ถ้าโจทก์มีพยานอื่นประกอบก็รับฟังลงโทษจำเลยได้
(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 401/2496, 1769/2509 และ 2001/2514)
จำเลยได้ใช้ให้ ส. ฆ่า ว. ผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยได้มอบอาวุธปืนของกลางให้ ส. นำไปหาโอกาสยิง ว.ผู้ตาย แม้ ส.ยังมิได้กระทำผิดเพราะไม่มีโอกาสฆ่าผู้ตาย การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) ประกอบกับมาตรา 85 วรรคสอง
จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) ประกอบด้วย มาตรา84 วรรคสองซึ่งต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้นั้นให้ลดโทษประหารชีวิตหนึ่งในสามเป็นจำคุกตลอดชีวิตตามมาตรา 52(1) และให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตอันเป็นโทษสองในสามของโทษประหารชีวิตเป็นจำคุก 50 ปีตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 ซึ่งต้องลงโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษประหารชีวิตคือกึ่งหนึ่งของโทษจำคุก 50 ปี จึงเป็นโทษ จำคุก 25 ปี
(โปรดดูคำพิพากษาฎีกาที่ 91/2510 ประชุมใหญ่)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ มีอาวุธปืนออโตเมติก ขนาด .๔๕ (๑๑ ม.ม.) คนละกระบอกไม่มีเครื่องหมายทะเบียน ใช้ยิงได้ พร้อมกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต และจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ได้พาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ต่อมาจำเลยที่ ๑ กับพวกได้ร่วมกันก่อให้จ่าสิบตำรวจสมบูรณ์และจำเลยที่ ๒ กระทำผิดกฎหมายด้วยการใช้ จ้าง วาน ให้คนทั้งสองฆ่านายวรวุฒิ แต่จ่าสิบตำรวจสมบูรณ์ยังมิได้ฆ่านายวรวุฒิเนื่องจากโอกาสไม่อำนวย ต่อมาจำเลยที่ ๒ ได้ใช้อาวุธปืนยิงนายวรวุฒิตามที่จำเลยที่ ๑ กับพวกใช้จ้างวานโดยเจตนาฆ่า นายวรวุฒิถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลยทั้งสองกับพวกโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙, ๓๗๑พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ
จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๙(๔) และพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๙(๔) ประกอบด้วยมาตรา ๘๔ วรรคสองและมาตรา ๕๒ และมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า แม้จ่าสิบตำรวจสมบูรณ์และพลตำรวจประสิทธิจะมีพฤติการณ์เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับจำเลยที่ ๑ แต่เมื่อโจทก์ได้กันจ่าสิบตำรวจสมบูรณ์และพลตำรวจประสิทธิไว้เป็นพยาน คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวอาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ แต่มีน้ำหนักน้อย มิใช่ว่าจะรับฟังไม่ได้เสียเลยทีเดียว และถ้าโจทก์มีพยานอื่นประกอบ ก็รับฟังลงโทษจำเลยได้
ข้อเท็จจริงเป็นอันเชื่อได้ว่า จำเลยที่ ๑ ได้ใช้ให้จ่าสิบตำรวจสมบูรณ์ฆ่านายวรวุฒิผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยได้มอบอาวุธปืนของกลางให้จ่าสิบตำรวจสมบูรณ์นำไปหาโอกาสยิงผู้ตาย แม้จ่าสิบตำรวจสมบูรณ์ยังมิได้กระทำผิดเพราะไม่มีโอกาสฆ่าผู้ตาย การกระทำของจำเลยที่ ๑ ก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๙(๔) ประกอบกับ มาตรา ๘๔ วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๙(๔) ประกอบด้วยมาตรา ๘๔ วรรคสองและมาตรา ๕๒(๑) โดยให้ลดโทษประหารชีวิตหนึ่งในสามเป็นจำคุกตลอดชีวิต และให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตอันเป็นโทษสองในสามของโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุก ๕๐ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๓ ซึ่งต้องลงโทษจำเลยที่ ๑ เพียงหนึ่งในสามของโทษประหารชีวิต คือ กึ่งหนึ่งของโทษจำคุก ๕๐ ปี เป็นจำคุกจำเลยที่ ๑ ไว้มีกำหนด ๒๕ ปี และลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา ๗, ๗๒คำสั่งของคณะปฏิวัติการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๕ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๖ จำคุก ๒ ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ลงหนึ่งในสาม คงจำคุกกระทงแรก ๑๖ ปี ๘ เดือน และจำคุกกระทงหลัง ๑ ปี ๔ เดือน รวมจำคุก ๑๘ ปี

Share