แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 ข้อ 2 ที่ให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจกำหนดการจ่ายค่าจ้างของลูกจ้างนั้น คำว่า “ค่าจ้าง” มิได้มีบทนิยามไว้ จึงต้องเข้าใจตามความหมายสามัญ คือหมายถึงสินจ้างที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้ หรือนัยหนึ่งหมายถึงสินจ้างที่ให้ตอบแทนการทำงานของลูกจ้าง
ประกาศของกระทรวงมหาดไทยที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 ได้กำหนดบทนิยามคำว่า “ค่าจ้าง” “ค่าล่วงเวลา” และ “ค่าล่วงเวลาในวันหยุด” ขึ้นเพื่อสะดวกแก่การดำเนินให้เป็นไปตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 ในส่วนที่เกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างโดยจำแนกชื่อค่าจ้างหรือสินจ้างที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้าง และหลักเกณฑ์การจ่ายต่างกับคำว่า “ค่าจ้าง” ตามที่กำหนดไว้ในประกาศของกระทรวงมหาดไทย ส่วนที่บทนิยามคำว่า “ค่าจ้าง” ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยไม่รวม “ค่าล่วงเวลา” และ “ค่าล่วงเวลาในวันหยุด” เพราะได้มีบทนิยามไว้อีกส่วนหนึ่งต่างหาก ฉะนั้น คำว่า “ค่าล่วงเวลา” และ “ค่าล่วงเวลาในวันหยุด” จึงเป็นค่าจ้างตามความมุ่งหมายในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 ประกาศของกระทรวงหมาดไทยที่กำหนดการปฏิบัติในเรื่องการจ่ายค่าจ้างโดยจำแนกชื่อสินจ้างต่างกันไป จึงไม่ได้ออกนอกเหนืออำนาจที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 กำหนดให้
ย่อยาว
คดีสามสำนวนศาลพิจารณารวมกัน
โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ได้ค่าจ้างรายวัน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ ไม่ได้จ่ายค่าล่วงเวลาให้ จึงขอให้บังคับจำเลยให้จ่ายค่าล่วงเวลาพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๒ เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๑ ไม่มีอำนาจหน้าที่จ่ายเงินค่าจ้างฟ้องเรียกค่าจ้างขาดอายุความ โจทก์ทำงานไม่ครบและมิได้รับอัตราค่าจ้างตามที่ฟ้อง จำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับแรงงาน
ศาลชั้นต้นสั่งงดชี้สองสถานและสืบพยานโดยเห็นว่าประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๙ ข้อ ๒ ให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยกำหนดเรื่องค่าแรงงานเฉพาะการจ่ายค่าจ้างเท่านั้น กระทรวงมหาดไทยไม่มีอำนาจกำหนดการจ่ายค่าจ้างล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด จึงไม่มีผลบังคับ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๙ ข้อ ๒ ให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างไว้อย่างกว้าง ๆ และเงินล่วงเวลาเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้เพราะเหตุที่ลูกจ้างทำงานให้นายจ้างนอกวันเวลาทำงานปกติ เงินล่วงเวลาเป็นสินจ้างหรือค่าจ้าง ประกาศของกระทรวงมหาดไทยไม่ขัดต่อประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๙ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๙ ข้อ ๒ ในส่วนเกี่ยวกับ “การจ่ายค่าจ้าง” มิได้มีบทนิยามคำว่า “ค่าจ้าง” จึงต้องเข้าใจตามความหมายสามัญ คือ หมายถึงสินจ้างที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้ หรืออีกนัยหนึ่งสินจ้างที่ให้ตอบแทนการทำงานของลูกจ้าง
ประกาศของกระทรวงมหาดไทยที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ ๒ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๙ ได้กำหนดบทนิยามคำว่า “ค่าจ้าง” “ค่าล่วงเวลา” และ “ค่าล่วงเวลาในวันหยุด” ขึ้นเพื่อสะดวกแก่การดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศของคณะปฏิวัติในส่วนที่เกี่ยวกับ “การจ่ายค่าจ้าง” โดยกำหนดเรียกชื่อค่าจ้างหรือสินจ้างที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้ ด้วยการจำแนกชื่อต่างกันไปตามเวลาหรือวันที่ลูกจ้างทำงานให้ กล่าวคือถ้าเป็นสินจ้างที่จ่ายให้ลูกจ้างที่ทำงานปกติเรียกว่า “ค่าจ้าง” สินจ้างหรือเงินที่จ่ายให้ลูกจ้างที่ทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติและที่ทำงานในวันหยุดงานเรียกว่า “ค่าล่วงเวลา” และ “ค่าล่วงเวลาในวันหยุด” แล้วแต่กรณีกับได้กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายสินจ้างเหล่านี้ด้วย คำว่า “ค่าล่วงเวลา” หรือ “ค่าล่วงเวลาในวันหยุด” จึงเป็นสินจ้างหรือค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานเกินเวลาปกติหรือทำงานในวันหยุดในอัตราพิเศษ “ค่าล่วงเวลา” หรือ “ค่าล่วงเวลาในวันหยุด” เนื้อแท้ก็เป็น “ค่าจ้าง” ตามความมุ่งหมายในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ นั่นเอง อันมีลักษณะและหลักเกณฑ์ในการจ่ายให้แก่ลูกจ้างต่างกับ “ค่าจ้าง” ที่กำหนดไว้ในประกาศของกระทรวงมหาดไทย บทนิยามคำว่า “ค่าจ้าง” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่ไม่รวม “ค่าล่วงเวลา” และ “ค่าล่วงเวลาในวันหยุด” เพราะได้มีบทนิยามไว้เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากคำว่า “ค่าจ้าง”
ประกาศกระทรวงมหาดไทยที่กำหนดการปฏิบัติในเรื่องการจ่ายค่าจ้าง โดยจำแนกชื่อสินจ้างต่างกันไป ไม่ได้นอกเหนืออำนาจที่ประกาศของคณะปฏิวัติกำหนดให้จึงมีผลบังคับได้จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างซึ่งมีชื่อเรียกตามประกาศกระทรวงมหาดไทยว่า “ค่าล่วงเวลา” และ “ค่าล่วงเวลาในวันหยุด” ให้โจทก์
พิพากษายืน