คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1127/2563

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ขายลดตั๋วเงิน ค้ำประกัน ตั๋วสัญญาใช้เงินและจำนำ จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) จากการขายทอดตลาดหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 ทรัพย์จำนำที่นำมาเป็นประกันหนี้ของ ธ. หนี้ตามสัญญาจำนำดังกล่าวจึงเป็นหนี้อุปกรณ์ที่มีขึ้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ประธานคือ หนี้ตามสัญญาขาย/ขายลดตั๋วเงินที่ ธ. ทำไว้กับเจ้าหนี้เดิม เมื่อปรากฏว่า ธ. นำตั๋วสัญญาใช้เงินมาขาย/ขายลดให้กับเจ้าหนี้เดิมและ ธ. ได้รับเงินค่าขายไปจากเจ้าหนี้เดิมครบถ้วนแล้ว แต่หลังจากนั้น ธ. ไม่ชำระหนี้ตามตั๋วเงิน แม้ลูกหนี้จะนำหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 มาจำนำเป็นประกันหนี้ของ ธ. ก็ตาม แต่ความรับผิดของลูกหนี้ตามสัญญาจำนำดังกล่าวย่อมไม่เกินจำนวนหนี้ประธานที่ ธ. มีต่อเจ้าหนี้เดิม ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นบทบังคับ ไม่ให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้จำนำต้องรับผิดชำระหนี้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 (2)
เมื่อหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วและสัญญาค้ำประกันที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ขาดอายุความ แต่ในส่วนหนี้จำนำนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 บัญญัติว่า “ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้อง ส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้” ดังนั้น แม้หนี้ที่ประกันจะขาดอายุความ เจ้าหนี้ก็ยังคงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนำ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 748 จากราคาทรัพย์จำนำของลูกหนี้ตามต้นเงินของหนี้ประธาน แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 100 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 193/27, 748 (1)
เมื่อสัญญาขาย/ขายลดตั๋วเงิน ระบุว่า ธ. ลูกหนี้ชั้นต้นยอมเสียดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้เดิมในอัตรา เอ็ม.อาร์.อาร์. บวก 2 ต่อปี ขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 16.50 ต่อปี เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ได้ตามอัตราดังกล่าว แต่เมื่อเจ้าหนี้ฎีกาขอดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงกำหนดให้ตามที่เจ้าหนี้ขอ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาด เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ขายลดตั๋วเงิน ค้ำประกัน จำนำและตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 19,105,968.77 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3)
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีความเห็นว่า เจ้าหนี้อยู่ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันโดยมีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนำตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 96 (3) และแม้ว่าหนี้ประธานขาดอายุความแล้วก็ไม่ทำให้สัญญาจำนำระงับสิ้นไป เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาจำนำในวงเงินไม่เกิน 7,500,000 บาท จากการขายทอดตลาดหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 เลขทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน 2730026 เลขที่ใบสำคัญ 005822 จำนวน 250,000 หน่วย และเลขที่ใบสำคัญ 005832 จำนวน 500,000 หน่วย ก่อนเจ้าหนี้อื่น ยกคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค่าขายลดตั๋วเงิน ค้ำประกันและตั๋วสัญญาใช้เงินในส่วนที่เกินวงเงินจำนำ และ/หรือส่วนที่ขาดอยู่จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนำเสียทั้งสิ้น
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่า โดยมีเงื่อนไขว่า หากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากนายธวัช ผู้ขายลดตั๋วและออกตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนำของนายธวัชแล้วเพียงใด ก็ให้สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ในคดีนี้ลดลงเพียงนั้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
เจ้าหนี้ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2539 นายธวัช ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 5,900,000 บาท และทำสัญญาขายลดตั๋วเงินดังกล่าวต่อธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิม ตกลงชำระดอกเบี้ยอัตรา เอ็ม.อาร์.อาร์. บวก 2 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกเดือน เริ่มงวดแรกในวันที่ 31 ตุลาคม 2539 หากผิดนัดยอมให้บังคับชำระหนี้ได้ทันที โดยจำนำหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 เลขทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน 1734725 เลขที่ใบสำคัญ 005821 จำนวน 250,000 หน่วยเป็นประกัน กับมีลูกหนี้เป็นผู้ค้ำประกันและจำนำหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 เลขทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน 2730026 เลขที่ใบสำคัญ 005822 จำนวน 250,000 หน่วย และเลขที่ใบสำคัญ 005832 จำนวน 500,000 หน่วย เป็นประกันการชำระหนี้ แต่ผู้ขายลดตั๋วไม่ชำระหนี้ ต่อมาเจ้าหนี้เดิมโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อผู้ขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินและลูกหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนำกับโอนสิทธิการรับจำนำแก่เจ้าหนี้ ขณะที่เจ้าหนี้นำหนี้ขายลดตั๋ว ตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญาค้ำประกันข้างต้นมายื่นขอรับชำระหนี้ หนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญาค้ำประกันขาดอายุความแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ดอกเบี้ยในต้นเงินจำนำย้อนหลังเป็นเวลาห้าปีหรือไม่ เพียงใด แต่เห็นควรวินิจฉัยก่อนว่า ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาจำนำในวงเงินไม่เกิน 7,500,000 บาท ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ขายลดตั๋วเงิน ค้ำประกัน ตั๋วสัญญาใช้เงิน และจำนำ จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) จากการขายทอดตลาดหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 ทรัพย์จำนำของลูกหนี้ที่นำมาเป็นประกันหนี้ของนายธวัช หนี้ตามสัญญาจำนำดังกล่าวจึงเป็นหนี้อุปกรณ์ที่มีขึ้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ประธานคือ หนี้ตามสัญญาขาย/ขายลดตั๋วเงินที่นายธวัชทำไว้กับเจ้าหนี้เดิม เมื่อปรากฏว่า นายธวัชนำตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 1 ตุลาคม 2539 จำนวน 5,900,000 บาท มาขาย/ขายลดให้กับเจ้าหนี้เดิมและนายธวัชได้รับเงินค่าขายไปจากเจ้าหนี้เดิมครบถ้วนแล้ว แต่หลังจากนั้นนายธวัชไม่ชำระหนี้ตามตั๋วเงิน แม้ลูกหนี้นำหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 จำนวน 750,000 หน่วย มูลค่าหน่วยละ 10 บาท รวมเป็นมูลค่า 7,500,000 บาท มาจำนำเป็นประกันหนี้ของนายธวัชก็ตาม แต่ความรับผิดของลูกหนี้ตามสัญญาจำนำดังกล่าวย่อมไม่เกินจำนวนหนี้ประธานที่นายธวัชมีต่อเจ้าหนี้เดิม คือ 5,900,000 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาจำนำในวงเงินไม่เกิน 7,500,000 บาท ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มานั้นจึงไม่ชอบ และปัญหาดังกล่าวเป็นบทบังคับไม่ให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้จำนำต้องรับผิดชำระหนี้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28/2 ส่วนปัญหาว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ดอกเบี้ยในต้นเงินจำนำย้อนหลังเป็นเวลาห้าปีหรือไม่ เพียงใดนั้น เห็นว่า ตามสัญญาขาย/ขายลดตั๋ว ข้อ 3 ระบุว่า หากตั๋วเงินที่นำมาขาย/ขายลดให้แก่ธนาคาร ธนาคารไม่ได้รับเงินตามตั๋วเงินไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตามหรือมีเหตุที่ทำให้หลักประกันอันได้ให้ไว้มีมูลค่าลดน้อยถอยลงหรือผู้ขายผิดนัดชำระดอกเบี้ยให้ถือว่าผู้ขายผิดสัญญาและธนาคารมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ตามสัญญานี้ได้ทันที โดยผู้ขายยอมรับผิดชดใช้เงินตามจำนวนที่ปรากฏในตั๋วเงินพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของธนาคารนับแต่วันผิดสัญญาเป็นต้นไปจนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้น แต่ตามรายการคำนวณยอดหนี้ มีเพียงรายการที่เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเท่านั้น โดยพยานหลักฐานของเจ้าหนี้ไม่ปรากฏว่านายธวัชซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อใด ทั้งข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้วว่า นายธวัชผิดนัดตั้งแต่วันครบกำหนดชำระหนี้งวดแรกวันที่ 31 ตุลาคม 2539 ตามที่ระบุไว้ในสัญญาขาย/ขายลดตั๋วเงิน เจ้าหนี้จึงชอบที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนำประกันหนี้ของนายธวัชชำระหนี้ทั้งหมดได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2539 โดยหาจำต้องทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญาจำนำหรือมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนำไปยังลูกหนี้ก่อนดังที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยมาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่า หนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วและสัญญาค้ำประกันที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ขาดอายุความ แต่ในส่วนหนี้จำนำนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 บัญญัติว่า “ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้” ดังนั้น แม้หนี้ที่ประกันจะขาดอายุความ เจ้าหนี้ก็ยังคงมีสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนำ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 748 จากราคาทรัพย์จำนำของลูกหนี้ตามต้นเงินของหนี้ประธานจำนวน 5,900,000 บาท แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 100 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 และมาตรา 748 (1) เมื่อสัญญาขาย/ขายลดตั๋วเงิน ระบุว่า นายธวัชลูกหนี้ชั้นต้นยอมเสียดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้เดิมในอัตรา เอ็ม.อาร์.อาร์. บวก 2 ต่อปี ขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 16.50 ต่อปี เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ได้ตามอัตราดังกล่าว แต่เมื่อเจ้าหนี้ฎีกาขอดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงกำหนดให้ตามที่เจ้าหนี้ขอ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ดอกเบี้ยในต้นเงินจำนำมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของเจ้าหนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามสัญญาจำนำในต้นเงิน จำนวน 5,900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2552 (วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด) ย้อนหลังขึ้นไป 5 ปี จากการขายทอดตลาดหน่วยลงทุนกองทุนรวมสหธนาคารเอกปันผล 3 เลขทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน 2730026 เลขที่ใบสำคัญ 005822 จำนวน 250,000 หน่วย และเลขที่ใบสำคัญ 005832 จำนวน 500,000 หน่วย ก่อนเจ้าหนี้อื่น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share