คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5514/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งงดสืบพยานโจทก์ของศาลแรงงานและคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ต่างเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้คัดค้านคำสั่งของศาลแรงงานไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 226 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ศาลแรงงานได้นำเอกสารทั้งชุดที่โจทก์อ้างมาให้จำเลยที่ 2ตรวจดู และจำเลยที่ 2 รับว่าเอกสารจำนวน 31 แผ่น เป็นระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของโจทก์จริง ศาลแรงงานกลางจึงรับเอกสารดังกล่าวไว้หมาย จ.4 แล้วเช่นนี้ จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะอุทธรณ์ในส่วนนี้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
พยานหลักฐานของโจทก์ที่ระบุเพิ่มเติมเข้าลักษณะเป็นพยานที่ไม่จำเป็นจะต้องสืบ ดังนี้ศาลแรงงานจึงมีอำนาจไม่อนุญาตให้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 88 วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 อุทธรณ์โจทก์โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลแรงงานในการสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา54 วรรคหนึ่ง
ศาลแรงงานสั่งงดสืบพยานโจทก์ 3 ปาก ซึ่งจะเบิกความทำนองเดียวกับพยานโจทก์ซึ่งเบิกความไปก่อนแล้วเพราะเห็นว่าเข้าลักษณะพยานฟุ่มเฟือยเกินสมควร ซึ่งศาลแรงงานมีอำนาจใช้ดุลพินิจงดสืบพยานดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 86 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 การที่โจทก์อุทธรณ์คัดค้านดุลพินิจของศาลแรงงานกลางในการสั่งงดสืบพยาน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ มีหน้าที่รับเงินค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศและค่าบริการโทรคมนาคม รวมทั้งค่าบริการตู้ไปรษณีย์เช่า จำเลยที่ 1 รับเงินค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศและค่าบริการโทรคมนาคมจำนวน1,628,669.90 บาท และรับเงินค่าเช่าตู้ไปรษณีย์ไว้ 1,200 บาท แล้วจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินดังกล่าวไป ส่วนจำเลยที่ 2 ก็เป็นลูกจ้างโจทก์ มีหน้าที่บริหารงานและควบคุมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขพระโขนงทั้งหมดรวมทั้งจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อหรือบกพร่องต่อหน้าที่ในการบริหารและควบคุมการปฏิบัติงานทำให้จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินดังกล่าวของโจทก์ไปจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์และการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสองต่อโจทก์ จึงต่างคนต่างทำละเมิด รวมทั้งเป็นการทำผิดสัญญาจ้างต่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ผลแห่งความรับผิดในค่าเสียหายต่อโจทก์จึงแบ่งแยกกันได้ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่ลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่จะต้องร่วมรับผิดในค่าเสียหายต่อโจทก์เต็มตามที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ไป และศาลจึงมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยการประมาทเลินเล่อหรือบกพร่องต่อหน้าที่ดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 438 และไม่อาจนำบทบัญญัติ มาตรา 291, 296, 297และ 301 มาบังคับแก่กรณีของจำเลยทั้งสอง และเมื่อจำเลยที่ 2 เป็นแต่เพียงผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้าง ป.พ.พ.มาตรา 425, 427, 430มาบังคับแก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ได้

Share