คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1608/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นจดคำให้การรับสารภาพของจำเลยไว้ และจดอายุของจำเลย 19 ปี แล้วพิพากษาลงโทษจำเลย จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยอายุ 15 ปีเศษ ขอให้ลดมาตราส่วนโทษให้ด้วย ศาลอุทธรณ์รับฟังสำเนาภาพถ่ายเอกสารสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านที่จำเลยเสนอมาพร้อมอุทธรณ์ เชื่อว่าจำเลยมีอายุ 15 ปีเศษ เมื่อศาลชั้นต้นไม่ได้สอบถามจำเลยเรื่องทนายไว้ ศาลอุทธรณ์ย่อมพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเรื่องทนายแล้วทำการพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในความครอบครองโดยไม่รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 7, 48, 73, 74, 74 จัตวา พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2502 มาตรา 17 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 7,19, 28 ผิดฐานมีไม้มะค่าโมงปรับ 1,000 บาท ฐานมีไม้ยาง จำคุก 6 เดือนปรับ 3,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลย3 เดือน ปรับ 2,000 บาท ของกลางริบ

จำเลยอุทธรณ์ ขอให้ลดมาตราส่วนโทษให้ด้วย

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเรื่องทนาย แล้วทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยฐานความผิดมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้โดยไม่รับอนุญาต ศาลชั้นต้นจดคำให้การรับสารภาพของจำเลยไว้และจดอายุของจำเลย 19 ปี โจทก์ฎีกาว่าหากจำเลยเห็นว่าตนเองมีอายุเพียง16 ปี ก็ชอบที่จะโต้แย้งให้ศาลบันทึกเป็นข้อคัดค้านไว้ แต่เมื่อไม่มีข้อคัดค้านดังกล่าว จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนว่าจำเลยมีอายุ 19 ปีหาชอบจะวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวนที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวแล้วในศาลชั้นต้นไม่ นั้น เห็นว่า สำเนาภาพถ่ายเอกสารสูติบัตรและภาพถ่ายเอกสารสำเนาทะเบียนบ้าน มีนายทะเบียนอำเภอรับรองว่าได้ถ่ายจากต้นฉบับ ซึ่งจำเลยส่งมาพร้อมกับอุทธรณ์ และโจทก์ก็ไม่ได้แก้อุทธรณ์คัดค้านในเรื่องนี้ว่าไม่ถูกต้องอย่างไรบ้าง เมื่อศาลอุทธรณ์ไม่สงสัยเอกสารดังกล่าวว่าจะผิดพลาดคลาดเคลื่อนเป็นอย่างอื่น ย่อมมีอำนาจรับฟังเอกสาร 2 ฉบับที่จำเลยเสนอมานั้นได้ และน่าเชื่อว่าจำเลยเกิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2505 มีอายุ 15 ปีเศษ ศาลชั้นต้นไม่ได้สอบถามจำเลยเรื่องทนายไว้ จึง้องให้ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเรื่องทนายแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่

พิพากษายืน

Share