คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1803/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้บรรยายฟ้องให้จำเลยที่ 1 เข้าใจได้ดีแล้วถึงระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 เบิกสินค้าไปแล้วต้องรับผิดรวมทั้งจำนวนที่ต้องรับผิด ตลอดจนมีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามนั้นด้วย จึงเป็นคำฟ้องที่บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 จะรับสินค้าไปเมื่อใด จำนวนเท่าใด เป็นเพียงรายละเอียดที่ที่โจทก์อาจนำสืบในชั้นพิจารณาได้ หาทำให้ฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วกลายเป็นฟ้องเคลือบคลุมไปไม่
ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ซึ่งจำเลยมิได้ให้การเป็นประเด็นไว้ เป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงาน ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงโดยวินิจฉัยจากคำเบิกความของจำเลยโดยไม่ได้ชั่งน้ำหนักพยานโจทก์เป็นการไม่ชอบนั้นเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง
ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานขายในร้านค้าย่อยทำหน้าที่ขายน้ำส้มสายชูกลั่น ในทางปฏิบัติจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าของจำเลยที่ 1 ได้มอบให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เบิกน้ำส้มสายชูกลั่นมาขายระหว่างเดือนตุลาคม 2528 ถึงเดือนสิงหาคม 2529จำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในใบสั่งซื้อและรับสินค้ามาขายในร้านค้าย่อยซึ่งการเก็บและการขายน้ำส้มสายชูกลั่นนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1แต่ปรากฏว่าเงินรายรับที่ควรได้จากการขายน้ำส้มสายชูกลั่นขาดบัญชี และน้ำส้มสายชูกลั่นที่จำเลยที่ 1 เบิกมาขายนั้นขาดหายไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้โจทก์เสียหาย การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินแก่โจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยและพิพากษาตามประเด็นที่ว่า จำเลยทั้งสิบเจ็ดทุจริตต่อหน้าที่ จงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์กรณีร้ายแรงหรือไม่ ดังที่กำหนดไว้โดยชอบ และแม้การที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในใบสั่งซื้อและเบิกน้ำส้มสายชูกลั่นแทนจำเลยที่ 2 จะปฏิบัติกันมาโดยโจทก์ไม่ทักท้วงจะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ไม่ร้ายแรงนักก็ตามแต่ก็หาทำให้ความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เบิกตลอดจนการเก็บและขายน้ำส้มสายชูกลั่นหลุดพ้นไปไม่
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันรับผิดอันเกิดจากมูลละเมิดระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างกับจำเลยทั้งหมดซึ่งเป็นลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน หาใช่เป็นคดีละเมิดอย่างเดียวไม่ กรณีเช่นนี้นอกจากจำเลยจะทำละเมิดต่อโจทก์แล้วยังฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตามป.พ.พ.มาตรา 164 เดิม หรือ 193/30 ที่ตรวจชำระใหม่

Share