คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 623/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบถึงการกระทำของจำเลยที่ 2 เข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 แล้ว จึงต้องนำโทษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 264 มาใช้เป็นโทษของมาตรา 268 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้ระบุมาตรา 264 มาด้วยเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้เสียใหม่ให้ถูกต้องได้ แม้ว่าโจทก์จะมิได้ระบุมาตรา 264 มาในคำขอท้ายฟ้องก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘, ๘๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ ๑ รับหมายเรียกแล้วไม่มาศาล ศาลชั้นต้นออกหมายจับ แต่ยังจับตัวไม่ได้ ศาลชั้นต้นให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๑
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘, ๘๓ ให้จำคุก ๖ เดือน
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์กับสามีได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากจำเลยที่ ๑ จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยที่ ๒ เป็นผู้เขียนสัญญากู้และลงลายมือชื่อเป็นพยาน ในการกู้ยืมเงินดังกล่าวจำเลยที่ ๑ ให้โจทก์นำโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๑๑๗๙๗ วางเป็นประกันเงินกู้ และให้โจทก์กับสามีลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความพร้อมทั้งให้มอบสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนแก่จำเลยทั้งสองไว้ ต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ ได้กรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจ แล้วจำเลยทั้งสองนำที่ดินของโจทก์ไปขายฝากแก่ จ. ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำความผิดดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ โจทก์เบิกความว่า โจทก์ไม่เคยยินยอมให้จำเลยที่ ๒ กรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจและไม่ได้ตกลงยินยอมในการขายฝากที่ดินของโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ ๒ เบิกความรับว่า เป็นผู้กรอกข้อความเป็นผู้รับมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจจริง โดยจำเลยที่ ๑ บอกให้กรอกข้อความและอ้างว่าได้แจ้งให้โจทก์กับสามีทราบแล้ว สาเหตุที่จำเลยที่ ๒ ยอมเป็นผู้รับมอบอำนาจเนื่องจากเห็นว่า โจทก์กับสามีได้มอบโฉนดที่ดินและเอกสารอื่น ๆ ให้แก่จำเลยที่ ๑ ไว้และบุคคลเหล่านั้นได้ตกลงกันว่า หากจำเลยที่ ๑ เดือดร้อนเรื่องเงิน โจทก์ยอมให้นำที่ดินไปขายฝากได้ เห็นว่า ตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งจำเลยที่ ๒ เป็นผู้เขียนมีข้อความระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า “ผู้กู้ได้นำโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๑๑๗๙๗ วางเป็นประกันเพื่อชำระหนี้ดังกล่าว” ไม่มีข้อความว่ายินยอมให้จำเลยที่ ๑ นำที่ดินไปขายฝากต่อได้ อีกทั้งกำหนดเวลาชำระหนี้เงินกู้คืนเพียง ๒ เดือน ซึ่งโจทก์ยืนยันว่าไม่มีความประสงค์จะนำที่ดินไปขายฝากแก่ จ. และไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ ไปทำสัญญาขายฝากที่ดินของตนแก่บุคคลภายนอก ฉะนั้น ข้ออ้างของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ รับฟังไม่ขึ้น เมื่อจำเลยที่ ๒ กรอกข้อความ ในหนังสือมอบอำนาจ โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์และไม่มีอำนาจที่จะทำได้ การกระทำของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นการปลอมเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ และฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ เป็นผู้นำหนังสือมอบอำนาจปลอมไปอ้างต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จนเจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อยอมจดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๑๗๙๗ ของโจทก์แก่ จ. การกระทำของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคสอง แต่เนื่องจากมาตรา ๒๖๘ มิได้ระวางโทษไว้ว่าจะให้ลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดอย่างไร แต่ได้บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา ๒๖๔ มาตรา ๒๖๕ มาตรา ๒๖๖ หรือมาตรา ๒๖๗ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ” เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบถึงการกระทำของจำเลยที่ ๒ เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ แล้ว จึงต้องนำโทษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๖๔ มาใช้เป็นโทษของมาตรา ๒๖๘ ซึ่งจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษา แต่การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๒ โดยไม่ได้ระบุมาตรา ๒๖๔ มาด้วยนั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้เสียใหม่ให้ถูกต้องได้ แม้ว่าโจทก์จะมิได้ระบุมาตรา ๒๖๔ มาในคำขอท้ายฟ้องก็ตาม ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๔, ๘๓ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share