คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2304/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ระบุว่า เมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 7 ดังนั้นการที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนไว้ในครอบครองในเวลาเดียวกันจึงเป็นความผิดต่อกฎหมายและมีโทษบทมาตราเดียวกันตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว
ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย 2 กระทงความผิดแต่ละกระทงจำคุกไม่เกิน 5 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว ลงโทษจำคุก 9 เดือน เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๕, ๖๗, ๙๗ ป.อ. มาตรา ๙๑ และเพิ่มโทษตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเคยต้องโทษกับพ้นโทษจริงตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง, ๖๗ เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก ๔ ปี ฐานมี เมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก ๑ ปี รวมจำคุก ๕ ปี เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙๗ เป็นจำคุก ๗ ปี ๖ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๓ ปี ๙ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวลงโทษจำคุก ๑ ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙๗ เป็นจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๙ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไป ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยเป็น ความผิดกรรมเดียวหรือไม่ เห็นว่า ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ ๑๓๕ (พ.ศ. ๒๕๓๙) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ระบุว่าเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗ ดังนั้นการที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนไว้ในครอบครองในเวลาเดียวกันจึงเป็นความผิดต่อกฎหมายและมีโทษบทมาตราเดียวกัน ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๗ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษาลงโทษจำเลยน้อยเกินไป ขอให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้นนั้น เห็นว่า เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค ๗ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย ๒ กระทงความผิดแต่ละกระทงจำคุกไม่เกิน ๕ ปี ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว ลงโทษจำคุก ๙ เดือน จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และลงโทษจำคุกจำเลย ไม่เกิน ๕ ปี จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์ในข้อนี้มาเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.

Share