คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6079/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาแล้วสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ โดยไม่พิจารณาคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เสียก่อนนั้น ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับว่า หากมีกรณีดังกล่าวศาลจะต้องสอบคำร้องขอเลื่อนคดีของอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อน จึงจะมีคำสั่งขาดนัดพิจารณาได้เพราะเท่ากับเป็นการแปลความเพิ่มหลักเกณฑ์ลงไปในมาตรา 197 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง การที่ศาลชั้นต้นจะสอบคำขอเลื่อนคดีของอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาล หากศาลใช้ดุลพินิจสอบคำขอเลื่อนคดีแล้วมีคำสั่งให้เลื่อนคดี วันนัดดังกล่าวก็มิใช่วันสืบพยานตามกฎหมายอีกต่อไปและเมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 197 วรรคสอง (เดิม) ประกอบกับมาตรา 201 วรรคหนึ่ง (เดิม) คำขอเลื่อนคดีของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ย่อมตกไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 15,448,612.98 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20.25 ต่อปี ของต้นเงิน 10,669,158.09 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 25,889 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระให้บังคับเอากับทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่น
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายจำเลยที่ 2 มาศาล ทนายจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำร้องมายื่นขอเลื่อนคดี ส่วนโจทก์ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลชั้นต้นสอบแล้ว ทนายจำเลยที่ 2 แถลงว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วแต่ศาลจะพิจารณาสั่ง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่า โจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลจึงให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ คำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่จำต้องพิจารณาสั่ง
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาแล้วสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ โดยไม่พิจารณาคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เสียก่อนนั้น เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้ แม้โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ย่อมมีสิทธิที่จะยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง สำหรับปัญหานี้เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคสอง เดิม ศาลจะสั่งว่าคู่ความขาดนัดพิจารณาจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ คือคู่ความต้องไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานและคู่ความฝ่ายนั้นมิได้ร้องขอเลื่อนคดี หรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเสียก่อนลงมือสืบพยาน คดีนี้จึงเข้าหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ครบถ้วนแล้ว ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีในวันสืบพยานด้วยนั้น ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับว่า หากมีกรณีดังกล่าวศาลจะต้องสอบคำร้องขอเลื่อนคดีของอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อน จึงจะมีคำสั่งขาดนัดพิจารณาได้ ข้ออ้างในฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เท่ากับเป็นการแปลความเพิ่มหลักเกณฑ์ลงไปในมาตรา 197 วรรคสอง ซึ่งไม่ถูกต้อง การที่ศาลชั้นต้นจะสอบคำขอเลื่อนคดีของอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ เป็นดุลพินิจ หากศาลใช้ดุลพินิจสอบคำขอเลื่อนคดีแล้วมีคำสั่งให้เลื่อนคดีวันนัดดังกล่าวก็มิใช่วันสืบพยานตามกฎหมายอีกต่อไป แต่สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ไปแล้ว ตามมาตรา 197 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 201 วรรคหนึ่ง เดิม คำขอเลื่อนคดีของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ย่อมตกไป ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share