คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1699/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การบรรยายฟ้องคดีอาญานั้น ไม่จำต้องเขียนข้อความล้อหรือเลียนให้เหมือนถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในตัวบทกฎหมาย เมื่อได้กล่าวบรรยายลักษณะของความผิดครบถ้วนและถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 แล้วก็ใช้ได้
การฟ้องคดีหาว่า จำเลยเบิกความเท็จนั้น แม้ในฟ้องจะมิได้ใช้คำว่า ถ้อยคำที่จำเลยเบิกความนั้นจำเลยรู้อยู่ว่าเป็นเท็จ แต่เมื่อถ้อยคำทั้งหลายในฟ้องแสดงให้เห็นชัดว่า จำเลยเบิกความโดยจงใจนำความเท็จมากล่าวว่าเป็นความจริง ซึ่งเท่ากับเอาความที่รู้อยู่ว่าเป็นเท็จมาเบิกความนั่นเอง ไม่มีความหมายผิดแผกแตกต่างอะไรกัน ฉะนั้นเมื่อฟ้องบรรยายลักษณะความผิดครบถ้วนและถูกต้องตามมาตรา 158 แห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วก็ใช้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2492 เวลากลางวันจำเลยได้สาบานตัวแล้วบังอาจเบิกความเท็จในข้อสำคัญในคดีอาญาดำที่ 107, 146/2492 ของศาลจังหวัดเพชรบุรี โดยจำเลยเบิกความว่านางสาวงามจิตต์ กาญจนรัตน์ เดินตามนายสัมฤทธิ เผ่าจินดากับพวกไป ไม่มีการฉุดคร่า แต่ความจริงนั้น นางสาวงามจิตต์ กาญจนรัตน์ถูกนายสัมฤทธิ เผ่าจินดา กับพวกฉุดคร่าไปเพื่อการอนาจาร ขอให้ลงโทษ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ฟ้องของโจทก์ไม่มีข้อความว่าถ้อยคำที่จำเลยเบิกความมานั้น จำเลยรู้อยู่แล้วว่า เป็นความเท็จ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 ให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ในฟ้องของโจทก์มิได้ใช้คำว่าถ้อยคำที่จำเลยเบิกความนั้น จำเลยรู้อยู่ว่าเป็นเท็จ แต่ถ้อยคำทั้งหลายในฟ้องของโจทก์แสดงให้เห็นชัดว่า จำเลยเบิกความโดยจงใจนำความเท็จมากล่าวว่า เป็นความจริง ซึ่งเท่ากับเอาความที่รู้อยู่ว่าเป็นเท็จมาเบิกนั่นเอง ไม่มีความหมายผิดแผกแตกต่างอะไรกันไม่มีบทบัญญัติใดในกฎหมายว่าในการฟ้องคดีอาญา จำจะต้องเขียนข้อความล้อหรือเลียนให้เหมือนกับถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในตัวบท เมื่อโจทก์ได้กล่าวบรรยายลักษณะความผิดครบถ้วนและถูกต้องตามมาตรา 158 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วก็ใช้ได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาข้อเท็จจริง แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ

Share