แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งถอดถอนโจทก์ออกจากกรรมการของจำเลยสืบเนื่องมาจากจำเลยมีฐานะการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน อีกทั้งจำเลยไม่อาจจะแก้ปัญหาได้แม้ทางการจะได้ให้โอกาสจำเลยเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ซึ่งเป็นอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะออกคำสั่งดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 24 ตรี วรรคสี่ และถือว่าเป็นการออกคำสั่งโดยมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นของจำเลยด้วย ผลของคำสั่งดังกล่าวทำให้โจทก์ไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลยอีกต่อไป จึงต้องถือว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์
ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละ 10 วัน ในปี 2541 โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนเมื่อคำนวณถึงวันที่ถูกจำเลยเลิกจ้างจะมีสิทธิ 6 วัน โจทก์ยังไม่ได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีดังกล่าวให้แก่โจทก์
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 853,525.16 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 587,063.23 บาท จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 183,745 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 126,381.66 บาท จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 3,307,410 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 2,274,870 บาท จ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 12,448,723.75 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 5,616,085.31 บาท จ่ายเงินค้ำประกันการทำงานแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 2,081,979.50 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 1,380,593.81 บาท และจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 12,127,170 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 7,582,290 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่เลิกจ้าง (วันที่ 14 สิงหาคม 2541) จนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองเคยเป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการรองผู้จัดการ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 551,235 บาท และ 379,145 บาท ตามลำดับ กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2541 ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งถอดถอนโจทก์ทั้งสองออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไปตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย คำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าและเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำความผิด แต่เป็นการเลิกจ้างที่สืบเนื่องมาจากจำเลยประสบปัญหาเรื่องการขาดสภาพคล่องไม่สามารถเพิ่มทุนได้ โจทก์ทั้งสองไม่สามารถจะแก้ไขได้ การเลิกจ้างดังกล่าวไม่ใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จจำนวน 12,448,723.75 บาท เงินฝากค้ำประกันจำนวน 2,081,979.50 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 826,852.50 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน 34,452.18 บาท และค่าชดเชยจำนวน 3,307,410 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จจำนวน 5,616,085.31 บาท เงินฝากค้ำประกันจำนวน 1,380,593.81 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 568,717.50 บาท ค่าจ้างสำหรับการหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน 23,696.56 บาท และค่าชดเชยจำนวน 2,274,870 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2541 ยกเว้นสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้นับตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2542 จนกว่าจะชำระให้โจทก์ทั้งสองเสร็จ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองสำนวนว่า คำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ถอดถอนโจทก์ทั้งสองออกจากตำแหน่งกรรมการของจำเลยเป็นกรณีที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิย์ พ.ศ.2505 มาตรา 24 ตรี วรรคสี่ บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องแก้ไขฐานะหรือการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ใด ซึ่งหากปล่อยเนิ่นช้าอาจเกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งถอดถอนกรรมการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์นั้น และแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนไปดำรงตำแหน่งแทนได้ทันทีตามที่เห็นสมควร” และวรรคท้ายบัญญัติว่า “ให้ถือว่าคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้ถอดถอนหรือแต่งตั้งตามมาตรานี้เป็นมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น” การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งถอดถอนโจทก์ทั้งสองออกจากกรรมการของจำเลย สืบเนื่องมาจากจำเลยมีฐานะการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน อีกทั้งจำเลยไม่อาจจะแก้ไขปัญหาได้แม้ทางการจะได้ให้โอกาสจำเลยเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ซึ่งเป็นอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะออกคำสั่งดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นและถือว่าเป็นการออกคำสั่งโดยมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นของจำเลยด้วย และผลของคำสั่งดังกล่าวทำให้โจทก์ทั้งสองไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลยอีกต่อไป จึงต้องถือว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยนับตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไป
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่าศาลแรงงานกลางกำหนดค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โจทก์ทั้งสองมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละ 10 วัน ฉะนั้นในปี 2541 โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วน เมื่อคำนวณถึงวันที่ถูกจำเลยเลิกจ้างจะมีสิทธิคนละ 6 วัน โจทก์ทั้งสองยังไม่ได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีความผิดจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 110,247 บาท และ 75,829 บาท ตามลำดับ ที่ศาลแรงงานกลางคำนวณและพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 34,452.18 บาท และ 23,696.56 บาท ตามลำดับ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 110,247 บาท และ 75,829 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง.