คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4126/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล” ตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 4 มีความหมายโดยสรุปว่า หมายถึง สิ่งที่แสดงถึงเรื่องราวความเป็นมาที่เกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด อันเป็นเรื่องราวเฉพาะตัวของบุคคลผู้นั้น ซึ่งจำแนกให้เห็นความแตกต่างจากเรื่องราวของบุคคลอื่น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะบันทึกหรือทำให้ปรากฏในเอกสารหรือวัตถุใด ๆ
กระดาษคำตอบข้อสอบคัดเลือกเข้าเรียนในสถานศึกษาของทางราชการเป็นเพียงเอกสารที่ผู้เข้าสอบแข่งขันจัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สถานศึกษากำหนดขึ้น เพื่อแสดงถึงภูมิความรู้และใช้เป็นเกณฑ์ชี้วัดความรู้ความสามารถของผู้เข้าสอบแข่งขันแต่ละคน โดยนำกระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของแต่ละคนไปพิจารณาเปรียบเทียบกัน เพื่อสรรหาผู้ที่สามารถแสดงภูมิความรู้ได้ดีกว่าผู้อื่นเป็นผู้ผ่านการสอบแข่งขัน กระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของผู้เข้าสอบแข่งขันจึงมิใช่เรื่องราวความเป็นมาที่เกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่ อันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของโจทก์ จึงไม่เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลอันได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่ให้เปิดเผย
เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องเกี่ยวกับกระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของผู้เข้าสอบแข่งขันเข้าศึกษาในโรงเรียนสาธิตมีรายละเอียดเพียงพอให้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายโดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานของคู่ความ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 15 , 24
แม้ตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 37 วรรคสอง บัญญัติให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเป็นที่สุดก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายเพียงว่า เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร หรือไม่รับฟังคำคัดค้านมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเป็นประการใดแล้ว บุคคลผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยนั้นจะโต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยนั้นต่อไปอีกไม่ได้ แต่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามคณะกรรมการชุดดังกล่าวพิจารณาทบทวนและเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำวินิจฉัยนั้น นอกจากนี้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารยังเป็นคำสั่งทางปกครอง ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ซึ่งตามมาตรา 49 บัญญัติว่า “เจ้าหน้าที่หรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่อาจเพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 51 มาตรา 52 และมาตรา 53…” การที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารพิจารณาทบทวนคำวินิจฉัยเดิมและมีคำวินิจฉัยใหม่ให้จำเลยที่ 8 เปิดเผยกระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของโจทก์ถือว่าเป็นการกระทำภายในกรอบของกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าฟ้องว่า โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้ากับเด็กหญิงณัฐนิช ลิมปโอวาท และนักเรียนอื่นอีกหลายคนสมัครสอบคัดเลือกเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าสอบผ่านเข้าเรียนได้ ส่วนเด็กหญิงณัฐนิชสอบเข้าเรียนไม่ได้ นางสุมาลี มารดาของเด็กหญิงณัฐนิชขอตรวจและถ่ายสำเนากระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของเด็กหญิงณัฐนิชและของผู้ที่สอบได้ต่อจำเลยที่ 8 เมื่อจำเลยที่ 8 แจ้งว่ากำลังพิจารณาเรื่องอยู่ นางสุมาลีก็ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ หลังจากนั้นจำเลยที่ 8 มีหนังสือแจ้งแก่นางสุมาลีว่ายังไม่สมควรดำเนินการตามคำขอตรวจและถ่ายสำเนาเอกสารให้ แต่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของนางสุมาลีแล้วส่งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 วินิจฉัย ในชั้นแรกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 มีคำวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 8 มีสิทธิไม่เปิดเผยกระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของผู้ที่สอบผ่านได้ ต่อมานางสุมาลีมีหนังสือขอให้จำเลยที่ 1 ทบทวนคำวินิจฉัยดังกล่าว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 รับเรื่องไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยที่ สค 1/2541 ให้จำเลยที่ 8 เปิดเผยกระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของเด็กหญิงณัฐนิชและของนักเรียนที่สอบผ่านทั้งหมดรวมทั้งของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าและอนุญาตให้นางสุมาลีตรวจและคัดสำเนาได้ จำเลยที่ 8 กำหนดจะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2542 การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 รับเรื่องที่นางสุมาลีขอให้ทบทวนคำวินิจฉัยเดิมและมีคำวินิจฉัยใหม่นั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคำวินิจฉัยเดิมถึงที่สุดไปแล้ว ทั้งกระดาษคำตอบและคะแนนสอบของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้านั้นมีลักษณะเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าไม่ยินยอมให้เปิดเผย หน่วยงานของรัฐจึงไม่อาจเปิดเผยได้ ตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 15 และมาตรา 24 ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยที่ สค 1/2541 ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และให้จำเลยที่ 8 ระงับการเปิดเผยกระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้า
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่า คดีพอที่จะวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป พิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าอุทธรณ์ ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ที่ 35 ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะของโจทก์ที่ 35
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 34 และที่ 36 ถึงที่ 109 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 มีคำวินิจฉัยให้จำเลยที่ 8 เปิดเผยกระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 34 และที่ 36 ถึงที่ 109 เป็นการกระทำที่ชอบด้วย พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 หรือไม่ ปัญหาดังกล่าวสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า กระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 34 และที่ 36 ถึงที่ 109 เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่ห้ามมิให้เปิดเผยหรือไม่ ซึ่ง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 4 ได้ให้ความหมายของคำว่า ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล หมายความว่า ” ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของบุคคล เช่น การศึกษา ฐานะการเงิน ประวัติสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม หรือประวัติการทำงาน บรรดาที่มีชื่อของผู้นั้นหรือมีเลขหมาย รหัส หรือสิ่งบอกลักษณะอื่นที่ทำให้รู้ตัวผู้นั้นได้ เช่น ลายพิมพ์นิ้วมือ แผ่นบันทึกลักษณะเสียงของคนหรือรูปถ่าย และให้หมายความรวมถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของผู้ที่ถึงแก่กรรมแล้วด้วย” ซึ่งมีความหมายโดยสรุปว่า หมายถึง สิ่งที่แสดงถึงเรื่องราวความเป็นมาที่เกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด อันเป็นเรื่องราวเฉพาะตัวของบุคคลผู้นั้นซึ่งจำแนกให้เห็นความแตกต่างจากเรื่องราวของบุคคลอื่น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะบันทึกหรือทำให้ปรากฏในเอกสารหรือวัตถุใด ๆ แต่ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้า เห็นได้ว่า กระดาษคำตอบข้อสอบคัดเลือกเข้าเรียนในสถานศึกษาของทางราชการเป็นเพียงเอกสารที่ผู้เข้าสอบแข่งขันจัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สถานศึกษากำหนดขึ้น เพื่อแสดงถึงภูมิความรู้และใช้เป็นเกณฑ์ชี้วัดความรู้ความสามารถของผู้เข้าสอบแข่งขันแต่ละคน โดยนำกระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของแต่ละคนไปพิจารณาเปรียบเทียบกันเพื่อสรรหาผู้ที่สามารถแสดงภูมิความรู้ได้ดีกว่าผู้อื่นเป็นผู้ผ่านการสอบแข่งขัน ดังนี้ กระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของผู้เข้าสอบแข่งขันจึงมิใช่เรื่องราวความเป็นมาที่เกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่อันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 34 และที่ 36 ถึงที่ 109 ไม่เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลอันได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่ให้เปิดเผย อนึ่ง ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าบรรยายมาในคำฟ้องเกี่ยวกับกระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของผู้เข้าสอบแข่งขันเข้าศึกษาในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีรายละเอียดเพียงพอให้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นโดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานของคู่ความ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าและจำเลยทั้งแปดจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย
ส่วนที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 34 และที่ 36 ถึงที่ 109 ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 เคยมีคำวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 8 มีสิทธิไม่เปิดเผยกระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของผู้เข้าสอบแข่งขันเข้าศึกษาในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ในกรณีดังกล่าวย่อมเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 37 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 จะมีมติเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำวินิจฉัยเดิมอีกไม่ได้นั้น เห็นว่า แม้มาตรา 37 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวบัญญัติให้คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 เป็นที่สุดตามที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 34 และที่ 36 ถึงที่ 109 กล่าวอ้างในฎีกาก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายเพียงว่า เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร หรือไม่รับฟังคำคัดค้านมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเป็นประการใดแล้ว บุคคลผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยนั้นจะโต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยนั้นต่อไปอีกไม่ได้ แต่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามคณะกรรมการชุดดังกล่าวพิจารณาทบทวนและเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำวินิจฉัยนั้น นอกจากนี้คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ยังเป็นคำสั่งทางปกครองตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ซึ่งตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวบัญญัติว่า “เจ้าหน้าที่หรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่อาจเพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 51 มาตรา 52 และมาตรา 53…” การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 พิจารณาทบทวนคำวินิจฉัยเดิมและมีคำวินิจฉัยใหม่ให้จำเลยที่ 8 เปิดเผยกระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าเป็นการกระทำภายในกรอบของกฎหมาย ศาลล่างทั้งสองพิพากษาคดีชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share