คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7235/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานเดินหมายได้ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องที่ภูมิลำเนาของจำเลยทั้งห้าตามหนังสือรับรองสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครสำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งนี้หนังสือรับรองและ แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรดังกล่าวเป็นหลักฐานเบื้องต้นของทางราชการที่แสดงว่าจำเลยทั้งห้ามีถิ่นอยู่อันเป็นภูมิลำเนา ณ ที่นั้น จำเลยทั้งห้าจึงมีหน้าที่นำสืบว่าได้ย้ายจากภูมิลำเนาตามหลักฐานดังกล่าวแต่พยานหลักฐานจำเลยทั้งห้าฟังไม่ได้ว่าได้ย้ายจากภูมิลำเนาตามหลักฐานดังกล่าวไปแล้ว จึงต้องฟังว่าจำเลยทั้งห้ายังคงมีภูมิลำเนาอยู่ตามหนังสือรับรองและแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งห้า ณ ภูมิลำเนาดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบ เมื่อจำเลยทั้งห้าไม่ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดถือว่าจำเลยทั้งห้าขาดนัดยื่นคำให้การ
เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 5 ยังมีภูมิลำเนาที่แน่นอนตามสถานที่ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลจะส่งหมายนัดโดยวิธีอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นปิดประกาศหน้าศาลแจ้งวันนัดสืบพยานโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 5 โดยไม่ได้ส่งหมายโดยวิธีธรรมดาก่อนจึงไม่ชอบ จะถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 5 ทราบวันนัดสืบพยานโจทก์แล้วยังไม่ได้ ทำให้กระบวนพิจารณาหลังจากนั้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นกรณีมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ชอบที่จะต้องเพิกถอนเสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27
การส่งหมายเรียกให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นั้นไม่พบจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงทำการปิดหมายไว้ เมื่อถึงวันนัดจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่มาศาล จึงเป็นกรณีมิอาจติดต่อส่งหมายให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยวิธีธรรมดาได้ ที่ศาลชั้นต้นปิดประกาศแจ้งวันนัดสืบพยานให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่หน้าศาลจึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 79 แล้ว เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์จึงเป็นการจงใจขาดนัดพิจารณา

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชี หนี้ตามหนังสือค้ำประกันและหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยทั้งห้าขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ว่า จำเลยทั้งห้าไม่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องกับหมายนัดสืบพยานโจทก์ โดยเอกสารดังกล่าวส่งไปยังที่อยู่ตามฟ้องซึ่งมิใช่ภูมิลำเนาของจำเลยทั้งห้าในขณะนั้นจำเลยทั้งห้าไม่ทราบคำฟ้องและกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ จึงไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำนวนหนี้ตามฟ้องไม่ถูกต้องโดยหนี้เบิกเงินเกินบัญชีมีการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย ส่วนหนี้ตามหนังสือค้ำประกัน และหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินได้มีการชำระไปแล้ว
โจทก์คัดค้านว่า หมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง กับหมายนัดสืบพยานโจทก์ได้ส่งไปยังภูมิลำเนาของจำเลยทั้งห้าโดยชอบแล้ว โจทก์มีพยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยทั้งห้าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เจ้าพนักงานเดินหมายได้ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้ที่ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามหนังสือรับรอง สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กับที่ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าในประการแรกว่า จำเลยทั้งห้าจงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่ เห็นว่า เจ้าพนักงานเดินหมายได้ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องที่ภูมิลำเนาของจำเลยทั้งห้าตามหนังสือรับรองและแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรซึ่งเป็นหลักฐานเบื้องต้นของทางราชการที่แสดงว่าจำเลยทั้งห้ามีถิ่นที่อยู่อันเป็นภูมิลำเนา ณ ที่นั้น จำเลยทั้งห้าจึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งห้าได้ย้ายจากภูมิลำเนาตามหลักฐานดังกล่าว แต่พยานหลักฐานจำเลยทั้งห้าฟังไม่ได้ว่าได้ย้ายจากภูมิลำเนาตามหลักฐานดังกล่าวไปแล้ว จึงต้องฟังว่า จำเลยทั้งห้ายังคงมีภูมิลำเนาอยู่ตามหนังสือรับรองและแบบรับรองรายการทะเบียนราฏฎร การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งห้า ณ ภูมิลำเนาดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินการกระบวนพิจารณาที่ชอบ เมื่อจำเลยทั้งห้าไม่ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ถือว่าจำเลยทั้งห้าขาดนัดยื่นคำให้การ
ในการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 พนักงานเดินหมายได้เดินทางไปยังสถานที่ที่ระบุตามหนังสือรับรองของจำเลยที่ 1 พบตึกแถวติดป้ายชื่อจำเลยที่ 1 ส่วนการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 5 พนักงานเดินหมายพบคนในบ้านแจ้งว่าจำเลยที่ 5 ไม่อยู่ตามรายงานการเดินหมายให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 5 ดังกล่าว แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 5 ยังมีภูมิลำเนาที่แน่นอนตามสถานที่ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลจะสั่งให้ส่งหมายนัดโดยวิธีอื่นตามมาตรา 79 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นปิดประกาศที่หน้าศาลแจ้งวันนัดสืบพยานโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 5 โดยไม่ได้ดำเนินการส่งหมายโดยวิธีธรรมดาก่อนจึงไม่ชอบ กรณีจะถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 5 ทราบวันนัดสืบพยานโจทก์แล้วยังไม่ได้ ทำให้กระบวนพิจารณาหลังจากนั้นต่อมาเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย ซึ่งการส่งหมายนัดให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 โดยไม่ชอบนั้นเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ชอบที่จะต้องเพิกถอนเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27
แต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นั้น ได้ความตามรายงานการเดินหมายว่าไม่พบจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงทำการปิดหมายไว้ เมื่อถึงวันนัดจำเลยที่ 2 และที่ 4 ก็ไม่มาศาล จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจติดต่อส่งหมายให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ด้วยวิธีธรรมดาได้ ที่ศาลชั้นต้นปิดประกาศแจ้งวันนัดสืบพยานให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่หน้าศาล จึงชอบด้วยมาตรา 79 แล้ว เมื่อปรากฏว่า ศาลชั้นต้นปิดประกาศวันนัดที่หน้าศาลให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทราบเป็นเวลาเกินกว่า 15 วันแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทราบนัดโดยชอบ การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์ จึงเป็นการจงใจขาดนัดพิจารณา ที่ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องขอพิจารณาใหม่ในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 กับที่ 5 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่การส่งหมายนัดสืบพยานโจทก์ให้จำเลยที่ 1 กับที่ 5 แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามรูปคดีต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 กับที่ 5 ทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้เป็นพับ.

Share