คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2891/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตระบุพยานเพิ่มเติมภายหลังวันชี้สองสถานพร้อมทั้งแนบบัญชีพยานมาท้ายคำร้องด้วยปรากฎว่าเอกสารดังกล่าวล้วนเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่จะทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นที่ว่าค่าใช้จ่ายเงินโบนัสพิเศษของโจทก์ในช่วงระยะเวลาที่ถูกประเมินเป็นรายจ่ายต้องห้ามหรือไม่ให้เป็นไปโดยถูกต้องเที่ยงธรรมจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าวหลักฐานดังกล่าวคำสั่งที่อนุญาตให้ระบุพยานเพิ่มเติมจึงชอบแล้ว เงินโบนัสพิเศษที่โจทก์จ่ายหาได้กำหนดขึ้นจากผลกำไรที่ได้รับในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีไม่แต่เป็นการจ่ายโดยคำนึงถึงผลการปฎิบัติงานของบริษัทโดยส่วนรวมแล้วนำมาจัดสรรให้แก่พนักงานรายจ่ายเงินโบนัสพิเศษของโจทก์จึงมิใช่รายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา65ตรี(19)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2530 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 – 2525 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น40,715,894.95 บาท โดยอ้างเหตุว่าในรอบระยะเวลาบัญชี 2521 และ2522 โจทก์นำรายได้มาลงบัญชีไม่ครบถ้วนและมีรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (19) การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ถูกต้อง จึงอุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ววินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ถูกต้อง เพราะที่เจ้าพนักงานประเมินว่าโจทก์มีรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65ตรี (19) ในระยะเวลาบัญชีปี 2521 – 2525 เป็นเพราะเจ้าพนักงานประเมินถือว่าเงินโบนัสพิเศษซึ่งโจทก์จ่ายในแต่ละปีเป็นเงินที่โจทก์กำหนดจ่ายจากผลกำไรสุทธิเมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ความจริงโจทก์จ่ายเงินดังกล่าวในแต่ละปีตามข้อตกลงในการเรียกร้องของสหภาพแรงงานถลุงแร่ดีบุกแห่งประเทศไทย ซึ่งกระทำการเรียกร้องแทนเพื่อประโยชน์ของลูกจ้างของโจทก์ และโจทก์มิได้กำหนดจ่ายเงินดังกล่าวแต่ละจำนวนจากผลกำไรสุทธิเมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 – 2525 โจทก์มีรายจ่ายโบนัสพิเศษให้แก่พนักงานภายหลังสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีของแต่ละปี โจทก์อ้างว่าเป็นการจ่ายตามมติของคณะกรรมการและข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แต่โจทก์ไม่ได้ส่งมอบหลักฐานเกี่ยวกับมติของคณะกรรมการหรือข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างต่อเจ้าพนักงานประเมิน หลักฐานที่ตรวจพบโดยโจทก์ได้ปฎิบัติทางบัญชีมีการลงจ่ายโบนัสให้แก่พนักงานเป็น 2 กรณีคือโบนัสปกติและโบนัสพิเศษ ในการจ่ายโบนัสปกติ โจทก์จะจ่ายให้ปีละ 2 เดือนของเงินเดือนมาตรฐานหรือค่าแรง 60 วัน ไม่รวมประโยชน์เพิ่มอย่างอื่นไม่ว่าโจทก์จะมีผลกำไรหรือขาดทุนก็ตามส่วนโบนัสพิเศษนั้นเมื่อพิจารณาจากข้อมูลต่าง ๆ พบว่า โจทก์จ่ายโบนัสพิเศษให้แก่พนักงานในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีไม่เท่ากันทั้งนี้ขึ้นกับกำไรสุทธิในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี กล่าวคือใน รอบระยะเวลาบัญชีที่โจทก์มีผลกำไรมาก โจทก์จะจ่ายโบนัสพิเศษเป็นจำนวนมากแต่ในระยะเวลาบัญชีที่โจทก์มีผลกำไรน้อยโจทก์จะจ่ายโบนัสพิเศษเป็นจำนวนน้อย ถือได้ว่าการจ่ายโบนัสพิเศษของโจทก์ดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่โจทก์ได้กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาบัญชีแล้ว อันเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (19) แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินของเจ้าพนักงานการประเมินที่ให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มจึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาแรกตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า คำสั่งศาลภาษีอากรกลางที่อนุญาตให้โจทก์ระบุพยานเพิ่มเติมและรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ชอบหรือไม่ ปรากฎว่าโจทก์ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตระบุพยานเพิ่มเติมภายหลังวันชี้สองสถาน พร้อมทั้งแนบบัญชีพยานมาท้ายคำร้องด้วยเอกสารดังกล่าวล้วนเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่จะทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นที่ว่าค่าใช้จ่ายเงินโบนัสพิเศษของโจทก์ในช่วงระยะเวลาที่ถูกประเมินเป็นรายจ่ายต้องห้ามหรือไม่เป็นไปโดยถูกต้องและเที่ยงธรรม จำเป็นจะต้องนำสืบพยานหลักฐานดังกล่าว ดังนั้นคำสั่งศาลภาษีอากรกลางที่อนุญาตให้โจทก์ระบุระบุพยานเพิ่มเติมและรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์จึงชอบแล้ว
ปัญหาต่อไปมีว่า รายจ่ายโบนัสพิเศษที่โจทก์จ่ายสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 – 2525 เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (19) หรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา65 ตรี (19) บัญญัติว่า “รายจ่ายใด ๆ ที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว” ซึ่งหมายถึงรายจ่ายใดที่มีการกำหนดหรือตั้งขึ้นไม่ว่าโดยมีข้อบังคับ ความตกลงหรือระเบียบหลักเกณฑ์การจ่ายว่าจะจ่ายจากผลกำไรเมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีเป็นเหตุให้ผลกำไรที่จะได้ลดน้อยลง ทำให้กำไรสุทธิที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แต่ไม่รวมถึงรายจ่ายที่กำหนดจ่ายจากยอดรายรับไม่ว่าจะมีกำไรหรือขาดทุน การจ่ายเงินโบนัสพิเศษของโจทก์มิได้เป็นไปตามอัตราส่วนผลกำไรที่โจทก์ได้รับเมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี บางปีโจทก์มีกำไรมากแต่ก็จ่ายเงินโบนัสพิเศษให้แก่พนักงานน้อย บางปีโจทก์กำไรน้อยแต่กลับจ่ายเงินโบนัสพิเศษให้แก่พนักงานมากข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า เงินโบนัสพิเศษที่โจทก์จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 – 2525 หาได้กำหนดขึ้นจากผลกำไรที่ได้รับในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีไม่ แต่เป็นการจ่ายโดยคำนึงถึงผลการปฎิบัติงานของบริษัทโดยส่วนรวมแล้วนำมาจัดสรรให้แก่พนักงาน รายจ่ายเงินโบนัสพิเศษของโจทก์ จึงมิใช่รายจ่ายต้องห้ามตาม มาตรา 65 ตรี (19)
พิพากษายืน

Share