คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 586/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินสองแปลงซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นของ ส. และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นให้ขายทอดตลาดแล้ว จึงเป็นการยึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยชอบ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีคำสั่งให้งดการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวจะต้องมีเหตุอ้างตามกฎหมายการที่จำเลยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งอายัดเงินจากบัญชีเงินฝากประจำธนาคารท. ของ ส. เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้เสร็จสิ้นแทนการขายทอดตลาดที่ดิน แต่โจทก์ยังโต้แย้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าโจทก์ไม่ยืนยันว่าเงินในบัญชีส่วนที่เหลือจากการอายัดเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและโต้แย้งต่อศาลชั้นต้นว่าเงินในบัญชีดังกล่าวมีข้อพิพาทระหว่างจำเลยกับบุคคลภายนอก หากเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งอายัดเงินตามคำขอของจำเลยโดยที่โจทก์ยังมีข้อโต้แย้งย่อมเป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 283 คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของโจทก์ทั้งสามจึงไม่ชอบ
คดีนี้คงเหลือหนี้ตามคำพิพากษา 6,833,057.50 บาทเศษ แต่ที่ดินทั้งสองแปลงที่ประกาศขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้ 24,856,000 บาท หากขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวย่อมจะเป็นการบังคับคดีเกินความจำเป็นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 284 หรือหากได้เงินจากบัญชีเงินฝากมาชำระหนี้โจทก์จนครบก็ไม่ต้องขายทอดตลาดที่ดิน แต่การอายัดเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของ ส. ยังมีข้อโต้แย้งอยู่ ข้อเท็จจริงจึงยังไม่ยุติว่าการบังคับคดีโดยวิธีใดจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสามฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนางสุรี จารุศร โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์ทั้งสามตามสัญญาจะซื้อจะขาย หากไม่สามารถโอนที่ดินได้ก็ให้ชำระเงินที่นางสุรีรับไปตามสัญญาจะซื้อจะขายพร้อมด้วยดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนางสุรีร่วมกันชำระเงิน 21,579,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา

วันที่ 22 เมษายน 2541 ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยึดอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือรายงานการยึดทรัพย์และขออนุญาตขายทอดตลาดที่ดินซึ่งนางสุรีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ศาลชั้นต้นอนุญาต

วันที่ 30 ธันวาคม 2541 โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องว่า ที่ดินทั้งสองแปลงที่ยึดไว้ไม่สามารถขายทอดตลาดได้ ขอให้เรียกผู้จัดการธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน)สาขาปทุมวัน มาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงเป็นหนังสือถึงบัญชีเงินฝากของนางสุรี ต่อมาธนาคารดังกล่าวมีหนังสือแจ้งต่อศาลชั้นต้นว่า นางสุรีมีบัญชีเงินฝากประจำร่วมกับนางสาวรางคณา เทพหัสดิน ณ อยุธยา จำนวน 192,764,533.60 บาท

เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 สิ้นสุดเพียงวันที่ 26 มีนาคม 2542 ว่า มีรายรับจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)สาขาราชวัตร ส่งเงินอายัดของนางสุรีจำนวน 168,897.09 บาท และธนาคารไทยทนุจำกัด (มหาชน) สาขาปทุมวัน ส่งเงินอายัดของนางสุรีจำนวน 25,000,000 บาทหักค่าใช้จ่ายแล้วจ่ายให้โจทก์ทั้งสาม 24,286,596.69 บาท คงเหลือหนี้โจทก์ทั้งสามอีก 6,833,057.50 บาท ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งต่อศาลชั้นต้นว่าในการขายทอดตลาดที่ดินเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2541 มีผู้เสนอราคาสูงสุดกว่าราคาประเมิน จำเลยคัดค้านราคา เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงงดการขายทอดตลาดไว้ บัดนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดอีกในวันที่ 3 สิงหาคม 2542 และวันที่ 7 กันยายน 2542

วันที่ 19 กรกฎาคม 2542 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า โจทก์ทั้งสามนำยึดที่ดินของนางสุรีไว้ 4 แปลง มีราคาสูงกว่าหนี้คงเหลือมาก บัญชีเงินฝากประจำธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) สาขาปทุมวัน ของนางสุรีมีพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา และนางสาวรางคณาเจ้าของบัญชีร่วมมิได้โต้แย้ง แต่โจทก์ทั้งสามกลับบังคับคดีจากบัญชีดังกล่าวเพียง 25,000,000 บาท ขอให้ส่งเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินจากบัญชีเงินฝากประจำดังกล่าวชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสามจนครบ แล้วถอนการยึดทรัพย์รายการอื่น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะยึดอายัด บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สิน สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ประเมินราคาทรัพย์เพื่อขายทอดตลาดให้พอชำระหนี้ตามที่โจทก์นำยึดอายัดหากได้เงินพอชำระหนี้แล้วก็ไม่อาจยึดทรัพย์อื่นได้อีก ยกคำร้อง

วันที่ 6 สิงหาคม 2542 โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีให้งดการขายทอดตลาดที่ดินไว้ก่อน และให้แจ้งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากประจำธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) สาขาปทุมวัน ของนางสุรี โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วว่า โจทก์ทั้งสามไม่ยืนยันว่าเงินส่วนที่เหลือจากการอายัด 25,000,000 บาท เป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษา จึงไม่ขอบังคับคดีแก่เงินดังกล่าวขอให้งดการอายัดเงินและให้ขายทอดตลาดที่ดินต่อไป เจ้าพนักงานบังคับคดีสั่งยกคำร้อง เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้สั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีงดการแจ้งอายัดเงิน และให้ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินไปตามกำหนดศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการบังคับคดีโดยการอายัดสิทธิเรียกร้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 310 (ที่ถูกเป็นมาตรา 310 ทวิ)จึงให้ยกคำร้อง

โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีในฐานเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะมีอำนาจที่จะยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามที่ศาลได้กำหนดไว้ในหมายบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 311 วรรคสอง แก้ไขโดยมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542 และมาตรา 278แต่อำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยการยึดและอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะยึดหรืออายัดบรรดาทรัพย์สินที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่าเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษา หากเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยชอบแล้วความรับผิดต่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือต่อบุคคลภายนอกเพื่อความเสียหายที่อาจมีขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าวย่อมไม่ตกแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ตกแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 283 วรรคหนึ่ง และ 284 วรรคสอง การที่โจทก์ทั้งสามนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 813 และ 743 ซึ่งโจทก์ทั้งสามอ้างว่าเป็นของนางสุรี จารุศร และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นให้ขายทอดตลาดแล้ว จึงเป็นการยึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยชอบ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีคำสั่งให้งดการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวจะต้องมีเหตุอ้างตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ 1 ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งอายัดเงินจากบัญชีเงินฝากประจำธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) สาขาปทุมวัน ของนางสุรีเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้เสร็จสิ้นแทนการขายทอดตลาดที่ดิน แม้จะเป็นการขอให้อายัดเพิ่มเติมหลังจากที่ธนาคารดังกล่าวส่งเงินอายัดมาแล้ว 25,000,000 บาท และแม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าบัญชีเงินฝากดังกล่าวมีพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา กับนางสาววรางคณา เทพหัสดิน ณ อยุธยา เจ้าของบัญชีร่วมมิได้โต้แย้ง แต่โจทก์ทั้งสามยังโต้แย้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าโจทก์ทั้งสามไม่ยืนยันว่าเงินในบัญชีส่วนที่เหลือจากการอายัดเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและโต้แย้งต่อศาลชั้นต้นว่าเงินในบัญชีดังกล่าวมีข้อพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองกับบุคคลภายนอก หากเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งอายัดเงินตามคำขอของจำเลยที่ 1 โดยที่โจทก์ทั้งสามยังมีข้อโต้แย้งดังกล่าว ย่อมเป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 283 ดังกล่าวข้างต้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ทั้งสามโดยวินิจฉัยว่า เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการบังคับคดีโดยการอายัดสิทธิเรียกร้องได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามฟังขึ้น

แต่อย่างไรก็ตามการบังคับคดีต้องดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 284ห้ามไม่ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้หากได้เงินมาพอจำนวนที่จะชำระหนี้แล้วห้ามไม่ให้เอาทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดออกขายทอดตลาดหรือจำหน่ายด้วยวิธีอื่น คดีนี้เห็นได้ว่าคงเหลือหนี้ตามคำพิพากษา6,833,057.50 บาทเศษ แต่ที่ดินทั้งสองแปลงที่ประกาศขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้ 24,856,000 บาท หากขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวย่อมจะเป็นการบังคับคดีเกินความจำเป็น หรือหากได้เงินจากบัญชีเงินฝากมาชำระหนี้โจทก์ทั้งสามจนครบก็ไม่จำต้องขายทอดตลาดที่ดิน แต่การอายัดเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของนางสุรียังมีข้อโต้แย้งระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 1 ดังกล่าวข้างต้น ข้อเท็จจริงจึงยังไม่ยุติว่าการบังคับคดีโดยวิธีใดจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษามากกว่ากันศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนเพื่อฟังข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี”

พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องลงวันที่ 6 สิงหาคม 2542 ของโจทก์ทั้งสามให้ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share