แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดิน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของ ต. โดย ต. ยกให้แก่โจทก์ในขณะที่ ต. ยังมีชีวิตอยู่ แต่ยังไม่ได้โอนทางทะเบียน ต่อมาศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะขอให้ใส่ชื่อโจทก์ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้โดยการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 77 และกฎกระทรวงฉบับที่ 7(พ.ศ. 2497) ข้อ 9 แต่จะฟ้องจำเลยผู้จัดการมรดกของ ต. ให้จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองให้โจทก์ไม่ได้เพราะจำเลยไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องไปจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายตุ๋ยแพทย์สิทธิ์ ผู้ตาย ตามคำสั่งศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เฉพาะส่วนของนายตุ๋ย แพทย์สิทธิ์ เนื้อที่ 2 งาน 66 ตารางวา โดยโจทก์ทั้งสองได้ที่ดินดังกล่าวมาตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ 15/2536 ของศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดแล้ว โจทก์ทั้งสองครอบครองที่ดินดังกล่าวอย่างเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 10 ปี ขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายตุ๋ย แพทย์สิทธิ์ ไปจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากไม่ไปให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่ดิน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่ม 1 หน้า 87 หมู่ที่ 4 ตำบลหันสัง อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เฉพาะส่วนที่เป็นชื่อของนายตุ๋ยแพทย์สิทธิ์ เนื้อที่ 2 งาน 66 ตารางวา ซึ่งเป็นที่พิพาทคดีนี้ โดยนายตุ๋ยยกที่พิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองในขณะที่นายตุ๋ยยังมีชีวิตอยู่ โจทก์ทั้งสองได้เข้าครอบครองที่พิพาทตลอดมาแต่ยังไม่ได้โอนทางทะเบียน ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองคดีถึงที่สุดแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ 15/2536 ของศาลชั้นต้น การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยให้ไปจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้เป็นชื่อของโจทก์ทั้งสองนั้นเห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใด ๆ รับรองสิทธิของโจทก์ทั้งสองให้ฟ้องร้องบังคับคดีต่อจำเลยได้เพราะจำเลยไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องไปจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองแก่โจทก์ทั้งสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองมีสิทธิครอบครองตามกฎหมายอยู่แล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะขอให้ใส่ชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ได้ โดยการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 77 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2497)ข้อ 9 จึงไม่มีผู้ใดกระทำการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองตามกฎหมายอันจะทำให้โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องร้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามกฎหมาย
พิพากษายืน