แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์หลายครั้งแล้วยังไม่ชำระราคาจำเลยให้การรับว่าซื้อสินค้าจากโจทก์จริง ที่จำเลยไม่ชำระราคาเพราะสินค้าที่โจทก์ส่งมอบไม่มีคุณภาพ จำเลยนำไปใช้แล้วเกิดความเสียหาย เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเรื่องสินค้าไม่มีคุณภาพขึ้นปฏิเสธความรับผิดชำระราคาสินค้า จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบ หากพยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจรับฟังได้สมกับข้อต่อสู้ตามคำให้การ จำเลยจึงต้องแพ้คดีโดยศาลไม่จำต้องอาศัยพยานหลักฐานโจทก์มาวินิจฉัยว่าสินค้าของโจทก์ไม่บกพร่องอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นางสุนันทา พาพรชัย ดำเนินคดีแทนระหว่างวันที่ 3 กันยายน 2536 ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยซื้อสินค้าสารผสมคอนกรีตจากโจทก์จำนวน 11 ครั้ง รวมเป็นเงิน 398,789บาท ครบกำหนดชำระราคาสินค้าแต่ละครั้งแล้วจำเลยเพิกเฉยไม่ชำระเงินให้โจทก์ โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จนถึงวันฟ้อง จำเลยค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 504,201.87 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 504,201.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน398,789 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยซื้อสินค้าสารผสมคอนกรีตตามฟ้องจากโจทก์จริง แต่จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระราคา เพราะสินค้าที่โจทก์ส่งมอบไม่มีคุณภาพเมื่อจำเลยนำไปใช้ผสมคอนกรีตเพื่อทำการก่อสร้างอาคาร ทำให้คอนกรีตไม่เกาะตัว เกิดรอยแตก ร้าว ยุบ ต้องทุบทิ้งและก่อสร้างใหม่ จำเลยต้องรับผิดรื้อถอนอาคารและก่อสร้างใหม่เสียเงินไปไม่น้อยกว่า 4,000,000 บาท จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาซื้อขายและแจ้งให้โจทก์รับสินค้ากลับคืนไป แต่โจทก์เพิกเฉยโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โจทก์ฟ้องคดีเกิน 2 ปีจึงขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าสินค้า 2,354 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ระหว่างวันที่ 3กันยายน 2536 ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยซื้อสินค้าสารผสมคอนกรีตไปจากโจทก์ 11 ครั้ง ยังไม่ชำระราคา ราคาสินค้าทั้งหมดรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม398,789 บาท มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยต้องชำระราคาสินค้าดังกล่าวแก่โจทก์หรือไม่ ในปัญหานี้จำเลยให้การต่อสู้สินค้าที่โจทก์ส่งมอบไม่มีคุณภาพเมื่อจำเลยนำไปใช้ผสมคอนกรีตเพื่อทำการก่อสร้างอาคารคอนกรีตไม่เกาะตัวเกิดรอยแตกร้าว ยุบ ต้องทุบทิ้งและก่อสร้างใหม่แต่ตามทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏความชัดเจนว่าสินค้าที่โจทก์ส่งมอบแก่จำเลยรวม 11 ครั้งตามฟ้องนั้น สินค้ารายการใด ครั้งไหนบ้างไม่มีคุณภาพจำเลยนำสืบปัญหานี้โดยมีนายวิทยา เตชะธัญญกุล กรรมการรองผู้จัดการจำเลย นายเอกชัย พรหมสิงห์ วิศวกรควบคุมโรงงานจำเลย นายชวลิตเสริมประสาทกุล เจ้าของโครงการก่อสร้างบริษัทราษฎร์บูรณะ คอนโดทาวน์จำกัด มาเบิกความเป็นพยาน โดยตามคำเบิกความของนายวิทยาได้ความว่าสินค้าที่ซื้อเดือนกันยายน 2536 ทราบว่ามีปัญหาเดือนพฤศจิกายน 2536ปัญหาคือ อาคารแตกร้าวเนื่องจากคอนกรีตไม่ได้มาตรฐานตรวจสอบพบว่ากำลังอัดของคอนกรีตไม่ได้มาตรฐาน คำเบิกความของนายเอกชัยได้ความว่าคอนกรีตสำเร็จรูปที่ลูกค้าตามหน่วยงานต่าง ๆ ซื้อจากจำเลยมีปัญหาแตกร้าวตั้งแต่กลางปี 2536 ต่อมาพยานตรวจสอบพบว่าเกิดจากน้ำยาหน่วงพลาสติกมีปัญหาเป็นส่วนมาก น้ำยาเร่งคอนกรีตก็มีปัญหาแต่ไม่มากเท่ากับน้ำยาหน่วงคอนกรีตคำเบิกความของนายชวลิตได้ความว่าการที่คอนกรีตสำเร็จรูปของจำเลยไม่สามารถรวมตัวกันได้ดีนั้น น่าจะเกิดจากตัวน้ำยาผสมที่ทำให้คอนกรีตแข็งแกร่งนั้นอาจจะเสื่อมคุณภาพ คำเบิกความของพยานจำเลยทั้งสามดังกล่าวได้ความรวมกันเพียงว่าสารผสมคอนกรีตไม่มีคุณภาพเมื่อจำเลยนำมาผสมคอนกรีตสำเร็จรูปแล้วทำให้คอนกรีตสำเร็จรูปไม่สามารถรวมตัวกันได้ดีกำลังอัดไม่ได้มาตรฐาน เห็นว่า สินค้าสารผสมคอนกรีตที่โจทก์ส่งมอบแก่จำเลยรวม 11 ครั้งตามฟ้อง มีทั้งน้ำยาหน่วงคอนกรีต นำยาเร่งคอนกรีตและซีเมนต์อุดรอยรั่ว ซึ่งน้ำยาแต่ละประเภทย่อมมีคุณสมบัติและวัตถุประสงค์ในการใช้แตกต่างกันไป จะเห็นได้จากหนังสือที่จำเลยแจ้งต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.1 ระบุน้ำยาหน่วงคอนกรีตของโจทก์มีปัญหา แต่ก็ไม่ระบุสาเหตุแท้จริงของปัญหาหรือความบกพร่องของสินค้า ส่วนเอกสารหมาย ล.3ระบุน้ำยาเร่งคอนกรีตมีคุณสมบัติไม่ดีพอ แต่ก็ไม่ระบุไม่ดีอย่างไร เป็นต้นคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์หลายครั้งแล้วยังไม่ชำระราคาจำเลยให้การรับว่าซื้อสินค้าจากโจทก์จริง ที่จำเลยไม่ชำระราคาก็เพราะสินค้าที่โจทก์ส่งมอบไม่มีคุณภาพ จำเลยนำไปใช้แล้วเกิดความเสียหายเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเรื่องสินค้าไม่มีคุณภาพขึ้นปฏิเสธความรับผิดชำระราคาสินค้า จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ข้อเท็จจริงว่าสินค้าที่โจทก์ส่งมอบไม่มีคุณภาพจำเลยต้องมีพยานหลักฐานมานำสืบให้ชัดแจ้งว่าสินค้าที่โจทก์ส่งมอบให้แต่ละครั้งแต่ละประเภท ไม่มีคุณภาพอย่างไร ศาลจะได้นำพยานหลักฐานนั้นมาวินิจฉัยว่าสินค้าประเภทใดที่โจทก์ส่งมอบตามฟ้องไม่มีคุณภาพเพื่อจะได้แยกแยะความรับผิดของจำเลยตามรายการสินค้าที่โจทก์ส่งมอบแต่ละครั้งได้ เมื่อทางนำสืบของจำเลยไม่ได้ความชัดเจนในข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งยังได้ความจากนายเอกชัยซึ่งเป็นพยานจำเลยเองว่าจำเลยประสบปัญหาคอนกรีตแตกร้าวตั้งแต่กลางปี 2536 อันเป็นเวลาก่อนมีการสั่งซื้อสินค้าตามฟ้อง พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่อาจรับฟังได้สมกับข้อต่อสู้ตามคำให้การ จำเลยจึงต้องแพ้คดีโดยศาลไม่จำต้องอาศัยพยานหลักฐานโจทก์มาวินิจฉัยว่าสินค้าของโจทก์ไม่บกพร่องอีกจำเลยต้องชำระราคาสินค้าทั้งหมดแก่โจทก์ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระค่าสินค้าตามฟ้อง1 รายการ เป็นเงิน 2,354 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น ก็ยังไม่ถูกต้องเช่นกันเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินค่าสินค้ารายการนี้พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ แม้มิได้มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์หรือฎีกาปัญหาข้อนี้ขึ้นมา แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าสินค้าอีก 396,435 บาทพร้อมดอกเบี้ย จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับเงินค่าสินค้าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยชำระแก่โจทก์ไว้แล้วจำนวน 2,354 บาทนั้น ให้ชำระพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2537 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์