แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาการออกจากงานและคำแปล โจทก์มิได้ยอมสละเงินรางวัลการขายนั้น เห็นว่า สัญญาการออกจากงานซึ่งทำขึ้นสืบเนื่องมาจากโจทก์ลาออก และในการทำสัญญาการออกจากงานฉบับนี้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้ปลดปล่อยคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งออกจากภาระเรื่องเงิน สิทธิเรียกร้อง การเรียกร้องสัญญาและการกระทำทั้งปวงไม่ว่าอย่างไรทั้งสิ้น ข้อตกลงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญามีเจตนาระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยจำเลยยอมจ่ายเงินแก่โจทก์จำนวน 1,387,525 บาท จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มีผลให้สิทธิเรียกร้องเงินรางวัลการขายระงับสิ้นไป โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าจ้างในส่วนที่เป็นเงินรางวัลการขายจำนวน 352,247.10 บาท ค่าชดเชยการเลิกจ้างสำหรับเงินรางวัลการขายจำนวน 176,123.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 มกราคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์แถลงขอสละคำขอค่าชดเชยการเลิกจ้างอันเกิดจากรางวัลการขาย และถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลแรงงานกลางอนุญาต ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่คู่ความรับกันว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2516 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย แผนกเวชภัณฑ์ยา ได้รับค่าจ้างก่อนปรับเงินโบนัสมารวมกับเงินเดือน คือก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2540 เดือนละ 57,100 บาท ต่อมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2540 โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 65,083 บาท และได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 70,983 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน นอกจากนี้โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานตั้งแต่ระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไป ยังมีสิทธิได้รับเงินโบนัสพิเศษไม่เกินเงินเดือน 2 เดือน ส่วนผู้จัดการเขตทุกคนได้รับเงินรางวัลการขายตามหลักเกณฑ์การจ่าย เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2541 โจทก์ทำหนังสือลาออก ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาการออกจากงานโดยจำเลยที่ 1 จ่ายเงินต่าง ๆ ให้โจทก์รับไปแล้วจำนวน 1,028,253 บาท และศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 โจทก์ในฐานะผู้จัดการฝ่ายขายมีสิทธิได้รับเงินรางวัลการขายจากจำเลยที่ 1 จำนวน 242,608.80 บาท แต่การที่โจทก์ในฐานะผู้จัดการฝ่ายขายทำหน้าที่แทนผู้จัดการเขตผู้ใต้บังคับบัญชาที่ลาออกถือได้ว่าเป็นปกติวิสัยที่จะต้องกระทำ ทั้งระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ 1 มิได้กำหนดให้โจทก์ได้รับเงินรางวัลการขายในกรณีทำหน้าที่แทนดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินรางวัลการขายในส่วนนี้ อย่างไรก็ดีเมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่าโจทก์จะไม่เรียกร้องเงินรางวัลการขายที่โจทก์มีสิทธิได้รับในฐานะผู้จัดการฝ่ายขายจำนวนข้างต้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวนดังกล่าวอีก พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามสัญญาการออกจากงานและคำแปล โจทก์มิได้ยอมสละเงินรางวัลการขายจำนวน 242,608.80 บาท ที่โจทก์มีสิทธิได้รับในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายนั้น สัญญาการออกจากงานซึ่งทำขึ้นสืบเนื่องมาจากโจทก์ลาออกได้ระบุในข้อ 1 ว่าในการลาออกของโจทก์ โจทก์จะได้รับเงินจำนวน 1,387,525 บาท และระบุในข้อ 3 ว่าในการทำสัญญาการออกจากงานฉบับนี้ คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้ปลดปล่อยคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งออกจากภาระเรื่องเงิน สิทธิเรียกร้อง การเรียกร้อง สัญญาและการกระทำทั้งปวงไม่ว่าอย่างไรทั้งสิ้น ข้อตกลงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญามีเจตนาระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยจำเลยที่ 1 ยอมจ่ายเงินแก่โจทก์จำนวน 1,387,525 บาท ตามที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 1 สัญญาการออกจากงานจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มีผลให้สิทธิเรียกร้องเงินรางวัลการขายในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายของโจทก์จำนวน 242,608.80 บาท หากมีอยู่ระงับสิ้นไป โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 อีก อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.