คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1640/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การทำละเมิดนั้น หมายความรวมทั้งการกระทำและการละเว้นในเมื่อมีหน้าที่ต้องกระทำเพื่อป้องกันผลเสียหายด้วย ฉะนั้น เมื่อลูกจ้างของจำเลยผู้ดำเนินกิจการรถไฟมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องป้องกันภัยในการที่จะเดินรถไฟผ่านข้ามถนนละเลยไม่ปิดแผงกั้นถนนขณะรถไฟผ่าน เป็นเหตุให้รถไฟของจำเลยชนรถยนต์โจทก์เสียหาย ก็ต้องถือว่าเป็นการทำละเมิดในทางการที่จ้าง ซึ่งจำเลยผู้เป็นนายจ้างต้องรับผิดด้วย
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 17/2506)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถจักรไอน้ำของจำเลยที่ ๓ ชนรถยนต์ของโจทก์ เสียหาย ทั้งนี้ โดยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๑-๒ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ โจทก์เรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายแล้วจำเลยเพิกเฉยเสีย จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหาย ๒๖,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑-๓ ให้การปฏิเสธส่วนจำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๒-๓ รับผิดร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๙,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ย
โจทก์และจำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ ๒-๓ ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย ๒๖,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ยด้วย
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า จำเลยที่ ๓ ผู้ดำเนินกิจการรถไฟมีหน้าที่ต้องป้องกันภัยในการที่จะเดินรถไฟผ่านข้ามถนน ตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ.๒๔๖๔ มาตรา ๗๒ และ ๗๓ คดีนี้ ข้อเท็จจริงปรากฎว่า รถจักรของจำเลยที่ ๓ แล่นตามรางผ่านข้ามถนนราชวิถีที่สพานอุภัยฯ ชนรถยนต์ของโจทก์ โดยไม่ปิดแผงกั้นถนน เพราะจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นพนักงานปฏิบัติหน้าที่ในเวลานั้นนอนหลับเสีย ความเสียหายที่เกิดจากรถชนกันนี้ เป็นเพราะจำเลยที่ ๒-๓ ฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ปิดแผงกั้นถนนขณะรถไฟผ่านตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟ ฯ ผู้กระทำการฝ่าฝืนบทบังคับของกฎหมายที่ปกป้องอันตรายจนเกิดความเสียหายขึ้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๖ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นผู้ผิด จำเลยที่ ๓ จะเถียงว่า พนักงานของจำเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่นอนหลับเสียไม่เป็นการทำละเมิด และไม่เป็นการกระทำในทางการที่จ้างหาได้ไม่ เพราะการทำละเมิดนั้น หมายความรวมทั้งการกระทำและการละเว้นในเมื่อมีหน้าที่ต้องกระทำเพื่อป้องกันผลเสียหายด้วย เมื่อจำเลยที่ ๓ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติการปิดกั้นถนนขณะรถไฟผ่าน ลูกจ้างของจำเลยซึ่งกระทำหน้าที่อยู่ได้ละเลยไม่ปฏิบัติ อันเป็นการทำละเมิดแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นการทำละเมิดในทางการที่จ้าง
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาของจำเลย

Share