คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1424/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เช็คที่มิได้ลงวันออกเช็คนั้น ผู้ทรงเช็คได้แต่จะกรอกวันเดือนปีลงตามที่ถูกต้องแท้จริงเท่านั้น เพราะผู้สั่งจ่ายเช็คและผู้สลักหลังย่อมประสงค์ที่จะผูกพันโดยอายุความอยู่ด้วยเสมอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเซ็นสลักหลังรับรองการใช้เงินในเช็คธนาคาร ไทยทนุ จำกัด เลขที่ เล.๘๙๗๒๙๔ ลงวันที่ ๖/๘/๑๙๕๙ เงิน ๖,๐๐๐ บาท ซึ่งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลตงฮั่วหลง โดยนายฮุ่น อุ่ยห้าง เป็นผู้สั่งจ่ายให้แก่โจทก์ โจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชี เมื่อ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๒ แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ติดต่อห้างหุ้นส่วนตงฮั่วหลง ปรากฎว่าเลิกกิจการไปแล้ว โจทก์ติดต่อจำเลยในฐานะผู้สลักหลัง จำเลยก็เพิกเฉย จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน
จำเลยให้การว่า เช็คที่โจทก์ฟ้องนายอุ่นสั่งจ่ายล่วงหน้าเพื่อการเล่นแชร์ ตั้งแต่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๐๐ ซึ่งมีรายการไม่สมบูรณ์โดยไม่ได้ลงวันเดือนปีที่ออกเช็ค วันที่ ๖/๘/๑๙๕๙ ที่ปรากฎในเช็คนั้น ผู้ทรงกรอกเอาเอง ไม่ใช่วันเดือนปีที่ถูกต้องแท้จริง จึงถือว่าเช็คมีรายการไม่สมบูรณ์ และพ้นกำหนดเวลาเรียกเงิน คือ ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า เช็คมีรายการสมบูรณ์ถูกต้องไม่บกพร่อง เมื่อจำเลยเป็นผู้สลักหลังก็ต้องรับผิดชอบ ไม่มีข้อแก้ตัวอย่างไร พิพากษาให้จำเลยใช้เงินตามเช็ค
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่า เช็คที่โจทก์ฟ้องเกิดจากการเล่นแชร์ โดยจำเลยเป็นนายวง โจทก์และห้างหุ้นส่วน ฯ ตงฮั่วหลงเป็นลูกวง มีผู้เล่น ๙ คน การลง+แชร์นั้น ห้างหุ้นส่วน ฯ ตงฮั่วหลงได้นำเช็คพร้อมกัน ๘ ฉบับ เมื่อ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๐๐ มอบให้จำเลยผู้เป็นนายวง โดยยังไม่ได้กรอกวันเดือนปีที่ออกเช็ค เมื่อผู้ใดเปียแชร์ได้ก็รับเช็คนั้นไปกรอกวันที่เอาเอง โจทก์เปียแชร์ได้เป็นคนที่ ๔ ได้รับเช็คไป แต่โจทก์ไม่ได้นำไปขึ้นเงินและไม่ได้ลงวันที่ในเช็ค จนห้างหุ้นส่วน ฯ ตงฮั่วหลง ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อ ๒๗ื มีนาคม ๒๕๐๒ และ ศาลสั่งล้มละลาย วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๐๒ โจทก์เพิ่งกรอกวันที่ ลงในเช็คที่รับไว้เป็นวันที่ ๖/๘/๑๙๕๙ ตรงกับวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๐๒ แล้วเอาเข้าฝากธนาคารวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๒ ได้ความดังนี้ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๙๑๐,๙๘๗,๙๘๙ เช็คที่ไม่ได้ลงวันที่ออก ผู้ทรงทำการโดยสุจริตจะจดวันออกเช็คตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คนั้นได้ ซึ่งตามข้อเท็จจริงปรากฎว่า ผู้สั่งจ่ายได้เขียนเช็คให้จำเลยไว้ แต่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๐๐ โจทก์เปียแชร์ได้และรับเช็คไปเดือนกันยายน ๒๕๐๐ กำหนดวันรับเงินตามเช็คในเดือนนั้น ฉะนั้น วันออกเช็คที่ถูกต้องแท้จริง ก็จะต้องเป็นวันใดวันหนึ่งใน ๒ วัน ดังกล่าว หรือถ้าจะเป็นเรื่องดังโจทก์อ้างว่าผู้สั่งจ่ายยอมให้กรอกวันเอาเอง การยอมดังนี้ก็น่าจะเป็นที่เข้าใจว่า ให้กรอกลงภายในเวลาอันสมควรที่จะรับเงินตามเช็คได้ซึ่งอย่างช้าไม่ควรจะเกินกำหนดอายุความนับแต่วันมอบเช็คให้ไป เพราะเช็คมิได้เกี่ยวข้องเฉพาะตัวผู้สั่งจ่าย ยังเกี่ยวเนื่องไปถึงธนาคารและผู้สลักหลังด้วย คงไม่มีใครยอมผูกพันตนตลอดไปจนไม่มีกำหนดเวลา เวลาว่าความรับผิดตามเช็คนั้นจะสิ้นสุดลงเมื่อไร และการที่จะต้องให้รับผิดโดยไม่มีกำหนดเวลาคงไม่ใช่ความประสงค์หรือเจตนาของผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลัง เช็คที่จำเลยสลักหลังที่ออกในคราวเดียวกัน ผู้ที่ได้รับไปไม่ว่าก่อนหรือหลังโจทก์ต่างก็รับเงินไปหมดแล้ว เฉพาะโจทก์ปล่อยให้ล่วงเวลามาเกือบ ๒ ปีแล้ว ลงวันออกเช็คไม่ตรงกับวันที่แท้จริง ถ้านับจากวันที่ถูกต้องแท้จริง เช็คก็ขาดอายุความที่จะฟ้องผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังให้ต้องรับผิดแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๐๐๒ ทั้งยังได้ความว่า วันที่โจทก์ลงในเช็คเป็นวันภายหลังห้างหุ้นส่วน ฯ ตงฮั่วหลงถูกศาลสั่งพิทักษ์เด็ดขาด ไม่มีอำนาจจะออกเช็คนี้ได้แล้ว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๒ มาตรา ๒๔ จึงไม่เป็นวันที่ถูกต้องแท้จริง ฝืนความจริง พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์กรอกวันเดือนปีลงในเช็คได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา +๑๐ โจทก์ได้แต่จะกรอกวันเดือนปีลงตามที่ถูกต้องแท้จริง ข้อที่โจทก์แถลงในรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยบอกว่าจะไปขึ้นเงินเมื่อใดก็ลงวันเอาเองได้นั้น จำเลยมิได้แถลงรับความข้อนี้และโจทก์ก็ไม่นำสืบ จึงหารับฟังได้ว่าเป็นดังที่โจทก์แถลงไว้ วันที่โจทก์กรอกลงในเช็คจึงไม่ใช่วันตามที่ถูกต้องแท้จริง ที่จะผูกพันจำเลย หาใช่ว่าจำเลยไม่ประสงค์ผูกพันโดยอายุความดังที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาไม่ เมื่อกรณีเช่นนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยถึงมาตรา ๙๑๔ และ ๙๑๖ ตามที่โจทก์ฎีกา เพราะไม่ทำให้รูปคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้
ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share