คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1560/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งความเป็นหนังสือไปยังผู้ร้องเตือนให้ชำระหนี้เงินกู้ (ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 119 วรรค 1) เป็นแต่เพียงหนังสือพวงหนี้ หาใช่หนังสือยืนยันหนี้สินอันจะเป็นการแสดงว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 119 วรรค 4 ซึ่งจะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงไม่
แต่การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งความเป็นหนังสือยืนยันหนี้สินไปยังผู้ร้อง (ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 119 วรรค 2 ) ถือได้ว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กระทำการอื่นใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องร้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 อายุความย่อมสะดุดหยุดลง
ผู้ร้องกู้เงินผู้ล้มละลายเมื่อ 11 เมษายน 2495 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งความเป็นหนังสือไปยังผู้ร้องเตือนให้ชำระหนี้ เมื่อ 19 กันยายน 2504 ผู้ร้องได้รับเมื่อ 20 ตุลาคม 2504 และปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2504 เจ้าพนักงานพิทักษ์สอบสวนแล้ว แจ้งความเป็นหนังสือยืนยันหนี้ไปยังผู้ร้องเมื่อ 21 มิถุนายน 2504 ผู้ร้องได้รับเมื่อ 12 กรกฎาคม 2505 เป็นเวลาเกิน 10 ปีแล้ว นับตั้งแต่วันกู้ คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164

ย่อยาว

คดีนี้ ชั้นแรก ศาลจังหวัดลพบุรี ได้พิพากษาให้จำเลยล้มละลาย ผู้ร้องได้ทำสัญญากู้เงินจำเลยผู้ล้มละลายเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๔๙๕ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงแจ้งให้ผู้ร้องชำระหนี้ดังกล่าว ผู้ร้องได้ปฏิเสธหนี้ภายในระยะเวลา เจ้าพนักงานพิทักษ์สอบสวนแล้ว แจ้งจำนวนหนี้ยืนยันไปยังผู้ร้องตามหนังสือลงวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๐๕
ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลว่า ผู้ร้องได้ใช้หนี้หมดแล้ว แต่ผู้ล้มละลายอ้างว่าสัญญาถูกไฟไหม้แล้ว ผู้ร้องได้ดูสัญญานี้จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๐๕ เป็นเวลาเกิน ๑๐ ปีแล้ว สัญญากู้เป็นโมฆะ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้การว่า ผู้ร้องร้องคัดค้านต่อศาลเกิน ๑๔ วันนับจากวันที่ผู้ร้องได้ลงนามในบันทึกของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้ผู้ร้องนำเงินมาชำระ และผู้ร้องรับสภาพนี้แล้ว สัญญากู้ไม่เป็นโมฆะ
ศาลจังหวัดลพบุรีวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องรายนี้ ขาดอายุความแล้วมีคำสั่งให้จำหน่ายชื่อนายจำลอง เทียนศรี ผู้ร้องจากบัญชีลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า สิทธิเรียกร้องรายนี้ยังไม่ขาดอายุความ ให้ผู้ร้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา ๑๑๙ วรรค ๒ มีใจความตอนหนึ่งว่า ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวน เมื่อลูกหนี้ของผู้ล้มละลายปฏิเสธหนี้ ถ้าเห็นว่า ลูกหนี้เป็นหนี้เท่าใด ให้แจ้งจำนวนเป็นหนังสือยืนยันไปยังลูกหนี้นั้น และให้แจ้งไปด้วยว่า ถ้าจะคัดค้านให้ร้องคัดค้านต่อศาลภายใน ๑๔ วันนับแต่วันได้รับแจ้งความยินยัน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การแจ้งความยืนยันดังกล่าวถือได้ว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทำการอื่นใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๗๒ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง เพราะพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา ๑๑๙ วรรค ๔ แสดงไว้ให้เห็นว่า หากลูกหนี้ดังกล่าวมิได้ร้องคัดค้านต่อศาลภายในกำหนด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อื่น คำขอให้บังคับคดีต่อลูกหนี้ผู้ได้รับแจ้งความยินยันได้เลยดุจมีคำพิพากษาแล้ว
ฉะนั้น การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งความยืนยันจำนวนหนี้ในคดีนี้ไปยังผู้ร้องเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๐๕ และหนังสือฉบับนี้ถึงผู้ร้องเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๐๕ จึงเป็นเวลานับจากวันกู้ (๑๑ เมษายน ๒๔๙๕) เกิน ๑๐ ปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔
ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๐๔ เตือนทวงถามให้ผู้ร้องชำระหนี้ และผู้ร้องได้รับเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๔ ซึ่งอยู่ในระยะเวลา ๑๐ ปีจากวันกู้ เป็นการกระทำอื่นใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องร้องเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๒ แล้วนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย เพราะหนังสือดังกล่าวเป็นเพียงหนังสือทวงหนี้ หาใช่เป็นหนังสือแจ้งยืนยันหนี้สินภายหลังการสอบสวนแล้ว ซึ่งเป็นหนังสือที่แสดงว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา ๑๑๙ วรรค ๔ ซึ่งจะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงไม่
ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้

Share